Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
พัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เพื่อพัฒนาสหกรณ์
ส่วนตัวผมมีความสนใจเรื่องสหกรณ์เป็นอย่างมากมาเป็นเวลานาน เนื่องจากผมเชื่อว่าสหกรณ์เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่น และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมของชาวบ้านได้ โดยตัวผมเองมีโอกาสได้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมาระยะหนึ่ง มีโอกาสได้สังเกตเห็นการดำเนินงานของสหกรณ์ในหลายแห่งและหลายระดับ สหกรณ์หลายแห่งมีการดำเนินงานที่ดี แต่ประเด็นที่ผมมีความห่วงใยคือ ยังมีสหกรณ์อีกจำนวนมากที่มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินงานและให้บริการแก่สมาชิก จึงทำให้ระบบสหกรณ์ไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเต็มที่
หากเรามองไปยังอนาคตที่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพการแข่งขันทางธุรกิจจะยิ่งรุนแรงขึ้น จากการเปิดเสรีทางการค้า การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อการดำเนินงานสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าสหกรณ์จะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้และสามารถแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคต ภาครัฐควรผลักดันสหกรณ์ไปในทิศทางใดหรือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนสหกรณ์อย่างไร
ผมได้ศึกษาตัวอย่างของสหกรณ์ในต่างประเทศ ทำให้ได้เห็นแนวทางการปรับตัว การนำเครื่องมือทางการดำเนินงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาใช้ในสหกรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องกลยุทธ์การหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบความเป็นเจ้าของสหกรณ์ ซึ่งครั้งนี้ผมจะมีโอกาสได้เล่าให้ฟังก่อนถึงเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่สหกรณ์อาจนำมาใช้ในการระดมทุนเพื่อดำเนินการ และจะเล่าให้ฟังถึงการปรับเปลี่ยนระบบความเป็นเจ้าของสหกรณ์ในโอกาสต่อไป
ที่มา http://cyber.thailife.com/cyberagent/images/website/012987472992552160153.jpg |
กลยุทธ์การระดมทุนทางการเงินที่ผมได้เห็นสหกรณ์ในต่างประเทศนำมาใช้และคิดว่าสหกรณ์ในไทยอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น
การออกพันธบัตร
สหกรณ์ในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม สเปน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส หรือ ออสเตรีย เป็นต้น ได้ทดลองออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกของสหกรณ์ โดยพันธบัตรนี้ไม่ได้ทำให้เจ้าของพันธบัตรมีสิทธิในการเป็นเจ้าของสหกรณ์หรือมีสิทธิในการออกเสียงในสหกรณ์แต่อย่างไร แต่ผลตอบแทนที่เจ้าของพันธบัตรจะได้รับ คือ ผลตอบแทนในอัตราคงที่ซึ่งโดยปรกติแล้วจะสูงกว่าพันธบัตรของรัฐบาล ทำให้พันธบัตรของสหกรณ์มีความน่าสนใจกว่าพันธบัตรของรัฐบาล
การออกหุ้นสหกรณ์บางส่วนที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้
สหกรณ์หลายแห่งต้องการสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกมีส่วนในการลงทุนในสหกรณ์ ดังนั้นจึงสร้างตลาดรองขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้นในระหว่างสมาชิกด้วยกันได้ (ปัจจุบัน หุ้นของสหกรณ์มีราคาคงที่ เนื่องจากไม่สามารถซื้อขายและแลกเปลี่ยนกันได้ สมาชิกจะสามารถได้รับผลตอบแทนจากหุ้นก็ต่อเมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์) ราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดนั้นจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงที่มาจากผลการดำเนินงานของสหกรณ์ โดยสหกรณ์ลักษณะนี้มีมากในประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา
การออกหุ้นที่ให้สิทธิผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ในการมีส่วนร่วมกับสหกรณ์ (External participant shares)
บางสหกรณ์มีส่วนของทุนที่มาจากผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ด้วย ดังตัวอย่างของสหกรณ์ในประเทศสเปนที่มีการกำหนดประเภทสมาชิกแบบใหม่ เช่น สมาชิกผู้สนับสนุน (Supporting members) สมาชิกร่วมดำเนินงาน (Collaborating members) และ พันธมิตร (Associate) เป็นต้น สหกรณ์ในอิตาลี มีสมาชิกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ผู้สนับสนุนทางการเงิน (Financial backing members) หรือในฝรั่งเศส มีกฎหมายพิเศษสำหรับสหกรณ์ที่หุ้นหรือส่วนของทุนมากกว่าร้อยละ 50 อยู่ในมือของผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์ ส่วนสหกรณ์ทั่วไปสามารถเชิญผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์ซื้อหุ้นหรือตั๋วลงทุนหรือแม้แต่พันธบัตรของสหกรณ์ได้
การนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
สหกรณ์ในบางประเทศ (ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไอร์แลนด์) นำหุ้นของตัวเองเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนจากประชาชนทั่วไป สหกรณ์เหล่านี้ได้กระจายสิทธิในการควบคุมสหกรณ์ของสมาชิก โดยอนุญาตให้ส่วนของทุนของสหกรณ์ส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์
ที่ผ่านมา สหกรณ์ส่วนใหญ่ระดมเงินทุนทั้งหมดมาจากสมาชิกสหกรณ์ ขณะที่สหกรณ์ในประเทศไทยไม่ได้ใช้แนวทางในการระดมทุนดังกล่าวข้างต้นเลย เนื่องด้วยความจำกัดในข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันคณะกรรมการสหกรณ์หรือผู้จัดการสหกรณ์ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ ภายใต้ความจำกัดของสหกรณ์และสภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น กระบวนการสหกรณ์ในประเทศไทยอาจต้องปรับปรุงสหกรณ์ตามทิศทางการพัฒนาของระบบสหกรณ์ทั่วโลก หรือริเริ่มสร้างสรรค์แนวทางดำเนินการรูปแบบใหม่ๆ ขณะที่ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นในสหกรณ์ เช่น การอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการ ผู้จัดการและสมาชิก การปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้สหกรณ์สามารถดำเนินกิจการเหล่านี้ได้มากขึ้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังถึงเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ และวิธีการประยุกต์ใช้กับสหกรณ์ไทย เป็นต้น
สหกรณ์ไทยจำเป็นต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน คิดนอกกรอบ พัฒนาปรับปรุงสิ่งต่างๆ เพื่อให้กลไกสหกรณ์สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทยได้จริง และสามารถแข่งขันและเอาตัวรอดได้ในอนาคตที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น