Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Corporate Social Responsibility (CSR) = Secondary Joint Responsibility
ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในหัวข้อ “CSR ทำได้ทั้งระดับบริษัทข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs” ในงานเสวนาวิชาการรายเดือน ครั้งที่ 96 ของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เรื่อง “CSR & Global Compact ต่อวิสาหกิจและนักวิชาชีพเพื่อธุรกิจยั่งยืน” ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากมาบรรยายและร่วมอภิปรายในหัวข้อ CSR
ผมเห็นว่าหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ผมจึงอยากจะแบ่งปันความคิดของผมแก่ผู้อ่านทุกท่าน
ที่มาของภาพ http://www.justmeans.com/editorial/wp-content/uploads/2010/10/csr.jpg |
โดยความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) อย่างจริงจังจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาประเทศได้มาก เพราะรัฐมีความจำกัดในการดูแลประชาชน ขณะที่องค์กรภาคเอกชนมีจำนวนมากและยังมีความสามารถที่จะช่วยเหลือสังคมได้ อย่างไรก็ตาม การทำ CSR ยังไม่ถูกขับเคลื่อนไปแรงเท่าที่ควร โดยสถิติระบุว่า บริษัทที่ทำ CSR ร้อยละ 90 เป็นบริษัทใหญ่และบริษัทข้ามชาติ แต่บริษัทเล็ก หรือ SMEs นั้นไม่ค่อยทำ CSR ทั้งที่ผู้ประกอบการร้อยละ 99.8 ในประเทศไทยเป็น SMEs
ผมมองว่าอุปสรรคที่ทำให้การทำกิจกรรม CSR ยังมีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย และ CSR ที่ดำเนินการกันอยู่นั้นยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีนั้นยังไม่มีมากนัก เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ได้แก่
ผมมองว่าอุปสรรคที่ทำให้การทำกิจกรรม CSR ยังมีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย และ CSR ที่ดำเนินการกันอยู่นั้นยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีนั้นยังไม่มีมากนัก เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ได้แก่
การขาดความชัดเจนในปรัชญาเบื้องหลังการทำ CSR
ความไม่เข้าใจปรัชญาเบื้องหลังของ CSR ทำให้ภาคเอกชนจำนวนมากทำ CSR แบบไม่เต็มที่หรือทำเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดีเท่านั้น สังเกตได้จากการที่บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำ CSR อย่างเจาะจง หรือมักจะตัดงบประมาณด้าน CSR ออกก่อนเมื่อบริษัทมีปัญหา
สาเหตุที่ทำให้เอกชนขาดความเข้าใจปรัชญาของ CSR ผมขอให้เราย้อนกลับมาที่คำถามพื้นฐาน คือ ในยามที่สังคมมีปัญหา ใครมีหน้าที่รับผิดชอบ?
หากสังคมประกอบด้วยสถาบันหลัก 3 ประเภท คือ หนึ่ง รัฐ นักการเมือง ข้าราชการประจำ ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ สอง คือ ภาคเอกชน ธุรกิจ และ สาม คือ องค์กรภาคส่วนที่สาม ตั้งแต่องค์กรการกุศล มูลนิธิ สมาคม เอ็นจีโอหลายรูปแบบ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมวลชนและดูแลปัญหาสังคม
มุมมองที่ผิดของภาคเอกชนต่อ CSR อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คิดว่าปัญหาสังคมเป็นหน้าที่ของรัฐไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง เพราะประชาชนจ้างคนเหล่านี้ด้วยภาษีและคนเหล่านี้อาสาตัวเข้าไปทำหน้าที่จัดการปัญหา พัฒนาและดูแลปัญหาส่วนรวมของสังคม เอกชนที่คิดเช่นนี้จะมองว่าการทำ CSR เป็นของแถมเท่านั้น
กลุ่มที่ 2 คิดว่าเอ็นจีโอควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะรัฐบาลไม่จริงใจและไม่รักษาสัญญา รัฐอาจสัญญาจะสร้างสะพานทั้งที่ไม่มีแม่น้ำก็เป็นได้ CSR ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เหลือจากการดำเนินการของรัฐ จึงควรเป็นหน้าที่ของเอ็นจีโอ หากภาคเอกชนที่คิดเช่นนี้ CSR จะไม่เกิดขึ้น
กลุ่มที่ 3 ไม่เชื่อว่าธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม เช่น มิลตัน ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าธุรกิจมีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบธุรกิจ ทำธุรกิจให้ดี ผลิตและจ้างงานให้เต็มที่ เอกชนไม่ควรเข้าไปยุ่งกับเรื่องอื่น เพราะเอกชนไม่เข้าใจและไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม คำตอบอาจจะมีหลากหลายตามความเห็นของแต่ละคน แต่ผมเชื่อว่าธุรกิจจำเป็นต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม หากเราเชื่อว่าธุรกิจต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม คำถามคือ เอกชนรับผิดชอบอย่างไร?
CSR เป็น Sole Responsibility (ความรับผิดชอบแต่เพียงลำพัง) ของเอกชนใช่หรือไม่? ผมคิดว่า ไม่ใช่ เพราะหากรับผิดชอบธุรกิจด้วยและรับผิดชอบสังคมด้วยเต็มที่จะเกิดปัญหาการขัดกันในเชิงเป้าหมายขององค์กร (กำไรสูงสุด กับ ผลประโยชน์สูงสุดของสังคม) และที่สำคัญ คือไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาสังคมทุกเรื่องได้ตามลำพัง ภาครัฐเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
CSR เป็น Partial Responsibility (ความรับผิดชอบบางส่วน) ของเอกชนใช่หรือไม่? ผมเห็นว่ายังไม่ใช่ เพราะ จะตัดความรับผิดชอบบางเรื่องให้เอกชนรับผิดชอบไม่ได้
CSR เป็น Additional Responsibility (ความรับผิดชอบส่วนเพิ่ม) ของเอกชนใช่หรือไม่? ผมยังคิดว่าไม่ใช่ การทำ CSR ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากหน้าที่หลัก แต่เป็นความรับผิดชอบหลักประการหนึ่ง เป็นหน้าที่ที่ต้องมีอยู่แล้ว
CSR เป็น Optional Responsibility (ความรับผิดชอบทางเลือกหนึ่ง) ของเอกชนหรือไม่? ผมคิดว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบที่เป็นทางเลือก CSR ไม่ใช่เรื่องที่ธุรกิจจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้
CSR เป็น Joint Responsibility (ความรับผิดชอบร่วม) หรือไม่? ประเด็นนี้ผมคิดว่าใช่ ผมคิดว่า CSR ไม่ใช่หน้าที่ที่เอกชนรับผิดชอบลำพังคนเดียว แต่ต้องร่วมกันอย่างเป็นระบบและบูรณาการ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันกับรัฐและองค์กรภาคส่วนที่สามอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
เมื่อรับผิดชอบร่วมกัน คำถามคือ ความรับผิดชอบร่วมกันแบบไหน? การร่วมกันมีหลายแบบเป็น Primary (แกนนำ) หรือ Secondary (ผู้ตาม) หรือเป็น Junior Responsible (ร่วมในเรื่องเล็กๆ) หรือ Senior Responsible (ร่วมในเรื่องใหญ่ๆ) ในงานนี้ ในเรื่องนี้ผมคิดว่าในเชิงมโนทัศน์ CSR เป็น Secondary Joint Responsibility ซึ่งหมายถึงแม้ว่าธุรกิจจะจับจ้องไปยังเป้าหมาย คือ การมีกำไรสูงสุด แต่ธุรกิจจะต้องชำเลืองสังคมและรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย โดยมีรัฐเป็นผู้นำจับมือกับเอกชน เอ็นจีโอ ร่วมมือกันตามจุดแข็ง จุดแกร่งของแต่ละภาค เพื่อเข้าไปมีส่วนพัฒนาสังคมไม่ว่าจะเรื่องใหญ่หรือเล็กก็ตาม
การทำ CSR มีลักษณะเป็นการให้บริการต่อสังคม (Social Service) มากกว่าการพัฒนาสังคม (Social Development)
การทำ CSR แบบ Social Service ในความคิดของผม คือการทำ CSR แบบสังคมสงเคราะห์ เฉพาะจุด แต่ขาดมุมมองของการพัฒนา ซึ่งการให้บริการต่อสังคมมากกว่าการพัฒนาสังคม โดยทั้งสองเรื่องนี้ต่างกัน คือการให้บริการต่อสังคม เป็นเหมือนการจับปลาให้คน ช่วยเหลือเป็นครั้งคราว เป็นการให้และจบไป ขณะที่ Social Development เป็นการสอนคนให้จับปลา ช่วยให้คนช่วยตัวเองได้ มีความเข้มแข็ง สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำ CSR ที่ดีนั้นควรมีลักษณะการพัฒนาสังคมมากกว่า อาจมีการให้ การบริจาคบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องหลักหรือส่วนใหญ่
การขาดความลึกในการทำ CSR
การทำ CSR ในสังคมไทย ส่วนใหญ่ขาดความลึก แต่ละบริษัทต่างคนต่างทำ ทำแบบกระจัดกระจาย ทำหลายเรื่อง เรื่องละเล็กละน้อย ไม่มีเป้าหมายเจาะจง ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าการทำ CSR ควรทำแบบลงลึก ไม่ฉาบฉวย ซึ่งไม่ได้หมายถึงธุรกิจจำเป็นต้องทำหมดทุกอย่าง ทุกเรื่อง แต่ตรงกันข้ามผมเห็นว่าองค์กรธุรกิจควรตั้งใจทำ CSR โดยรับเป็นเจ้าภาพอย่างน้อย 1 เรื่อง อาจะเป็นเรื่องเล็กก็ได้ แต่โฟกัสเจาะจง และทำให้สุด จนเห็นพลังการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
การทำ CSR นอกองค์กรโดยไม่ได้เริ่มต้นจากการปฏิรูปภายในองค์กรของตนเองก่อน
เราต้องไม่ลืมบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างเอ็นรอน เวิร์ลคอม หรือบริษัทอีกจำนวนมากที่ปิดกิจการไปก็มีการทำ CSR เช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่า CSR ไม่ใช่สัญลักษณ์รับประกันความดีหรือความสำเร็จขององค์กร การทำ CSR ที่ดีต้องเริ่มจากในองค์กรตัวเอง ซึ่งได้รับการปฏิรูปเสียก่อน ตัวอย่างเช่น บริษัทในประเทศไทย เกือบทั้งหมดมีสามบัญชี บัญชีหนึ่ง ให้สรรพากรตรวจสอบ บัญชีสอง ให้ผู้ร่วมหุ้นพิจารณา และบัญชีที่สาม เก็บไว้ให้ตัวเองดู บริษัทที่ทำ CSR แท้ จะเป็นเช่นนี้ไม่ได้ ถ้าเราจะทำ CSR ต้องทำที่ตัวองค์กรเราเป็นตัวอย่างก่อน เช่น ทำระบบบัญชีให้โปร่งใส มีบัญชีเดียว จ่ายภาษีถูกต้องอย่างแท้จริง เป็นต้น
หากปัญหาเกี่ยวกับการทำ CSR ของภาคธุรกิจที่ผมเอ่ยถึงเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะได้รับการแก้ปัญหาและได้รับการพัฒนาอย่างมหาศาล โดยที่ภาระหนักไม่ได้ตกเป็นของรัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ทุกคนทุกฝ่ายได้มีส่วนช่วยเหลือแบ่งเบาและทำหน้าที่ของตัวเองแต่ละฝ่ายอย่างเหมาะสม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น