Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
รัฐบาลได้โหมโรงเกี่ยวกับชุดนโยบายสำหรับช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลได้ประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา
ชุดของนโยบายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
นโยบายชุดแรก เป็นนโยบายสำหรับแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีนโยบายหลัก คือ การจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคม โดยลดเบี้ยสมทบลง แต่ตัดสิทธิประโยชน์บางประเภทออกไปด้วย และนโยบายช่วยเหลือแรงงานแต่ละกลุ่ม เช่น การขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์วินเถื่อนให้มีเสื้อวินถูกกฎหมายและปรับปรุงที่พักวินมอร์เตอร์ไซค์ การให้คนขับรถแท็กซี่กู้ซื้อรถใหม่และโครงการแท็กซี่ 4 มุมเมืองเพื่อความสะดวกในการรับผู้โดยสารตามสถานที่ต่างๆ การเพิ่มจุดผ่อนผันสำหรับหาบเร่แผงลอยและห้ามผู้ค้ารายเดิมผูกขาดการขายในทำเลทอง การดูแลความปลอดภัยของคนทำงานกลางคืน เป็นต้น
นโยบายชุดที่สอง คือการควบคุมราคาสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะหมู ไก่ และไข่ไก่ โดยเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ บังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลิตภาพ และประกาศให้ไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุม รวมทั้งมีแนวคิดเปลี่ยนการขายไข่ไก่เป็นฟองมาเป็นการขายเป็นน้ำหนัก
นโยบายชุดที่สาม คือการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยตรึงราคาก๊าซหุงต้มให้ต่ำ แต่ลอยตัวราคาก๊าซสำหรับใช้ในยานยนต์ และตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร โดยนำเงินที่ไม่ต้องอุดหนุนราคาก๊าซในภาคขนส่งเพื่อไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งยกเว้นค่าไฟฟ้าแบบถาวรสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน
ชุดนโยบายข้างต้นได้รับการตีความกันโดยทั่วไปว่า เป็นความพยายามของพรรครัฐบาลเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้า ซึ่งแม้แต่พรรคการเมืองในรัฐบาลเองก็ยังมีการแข่งขันทางนโยบายเพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมจากประชาชน
โดยไม่ต้องกล่าวถึงแรงจูงใจทางการเมืองของพรรครัฐบาล การนำเสนอนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่นอกระบบ เป็นความพยายามที่ผมเห็นด้วยและผมได้เสนอนโยบายสำหรับประชาชนกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ผมมีข้อวิพากษ์ต่อข้อเสนอนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นบางประการ
ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งหมด
นโยบายนำแรงงานงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมมีแนวคิดจูงใจให้แรงงานจ่ายเงินสมทบ โดยลดวงเงินสมทบลงและรัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าระบบจูงใจเป็นแนวคิดที่ดีและรัฐบาลอ้างว่านโยบายนี้จะครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งหมด แต่ในภาคปฏิบัติ ผลสัมฤทธิ์ของนโยบายจะไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งหมด เนื่องจากแรงงานนอกระบบจำนวนมากเป็นคนยากจน ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายสมทบ (เพราะแม้แต่รายได้สำหรับการดำรงชีพยังมีไม่เพียงพอ) และยินดีรับความเสี่ยงมากกว่าประกันความเสี่ยง ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงมากเท่านั้นจึงจะยินดีเข้าสู่ระบบ ซึ่งอาจทำให้กองทุนมีภาระทางการเงินมากขึ้น ระบบประกันภาคบังคับหรือประกันแบบถ้วนหน้าจึงมีประสิทธิผลมากกว่าในการจัดสวัสดิการที่จำเป็นให้ครอบคลุมแรงงานทั้งหมด ส่วนการประกันแบบจูงใจควรเป็นระบบเสริมสำหรับการจัดสวัสดิการเพิ่มเติม
ขาดความเชื่อมโยงและสนับสนุนระบบสวัสดิการอื่นๆ
ถึงแม้ว่าแรงงานนอกระบบแต่ละกลุ่มมีลักษณะและความต้องการแตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละกลุ่มอาชีพ แต่สำหรับความต้องการด้านสวัสดิการที่คล้ายคลึงกัน นโยบายของรัฐบาลกลับมีลักษณะกระจัดกระจาย ขาดความเชื่อมโยงกับระบบสวัสดิการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วหรือไม่พบกลไกการสนับสนุนองค์กรอื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น การที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบประกันสังคมอาจจะทำให้ระบบสหกรณ์หรือกองทุนเงินออมของชุมชนต่างๆ อ่อนแอลง เพราะประชาชนที่เป็นสมาชิกขององค์กรเหล่านี้จะหันไปใช้บริการของประกันสังคม สถาบันการเงินของรัฐหรือกองทุนเงินออมแห่งชาติ แทนการใช้บริการจากสหกรณ์หรือกองทุนเงินออมของชุมชน เพื่อจะมีสิทธิ์ได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล ซึ่งในความเห็นของผม ระบบสวัสดิการไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์ที่หน่วยงานรัฐ แต่รัฐควรสนับสนุนให้องค์กรของประชาชนมีส่วนร่วมจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนด้วย
ปราศจากนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน
แม้การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันสังคม เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เข้าถึงปัจจัยในการประกอบอาชีพ และลดค่าครองชีพเป็นนโยบายที่ดี แต่นโยบายส่วนใหญ่ยังมีลักษณะที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือเป็นการป้อนให้โดยรัฐ หรือเป็นการแทรกแซงโดยรัฐบาลเพื่อสร้างบริบทแปลกปลอมที่สงเคราะห์หรือเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานนอกระบบ แต่ไม่พบว่ามีนโยบายที่เสริมสร้างผลิตภาพหรือความสามารถในการแข่งขันให้กับประชาชน หรือนโยบายที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้ ทักษะและความสามารถในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทปกติที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง
ไร้ประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์
นโยบายส่วนหนึ่งมีลักษณะแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งอาจทำให้ขาดประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ ดังตัวอย่างของการห้ามมิให้ผู้ค้าผูกขาดการขายสินค้าในพื้นที่ที่เป็นทำเลทอง ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นผลดีในแง่การกระจายโอกาสของหาบเร่แผงลอย แต่หากใช้วิธีการคัดเลือกผู้ค้าที่ผิด อาจทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมแย่ลง หรืออาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ที่ได้สิทธิในการค้าขายในทำเลทองอาจไม่ใช่ผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และรัฐยังจัดเก็บรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ในความเห็นของผม รัฐควรใช้วิธีประมูลสิทธิ์ในการเช่าพื้นที่ขายในพื้นที่ที่เป็นทำเลทอง เพื่อให้ผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเข้ามาทำการค้า ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประมูลและจัดเก็บภาษีจากการขายสินค้า และทำให้มีงบประมาณไปช่วยเหลือคนยากจนมากขึ้นด้วย
แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มคนที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญที่ควรได้รับการช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเป็นกลุ่มคนที่ยากจนและถูกละเลยมาโดยตลอด ผมจึงเห็นด้วยที่ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้ แต่ข้อเสนอนโยบายของรัฐบาลยังกระจัดกระจาย ขาดการมองภาพรวม และดูเหมือนขาดประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์และขาดประสิทธิผลในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น