วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รักจริง ต้องใช้เงินเป็น ตอนที่ 2/2

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ก่อนตกลงปลงใจร่วมชีวิตกับใคร ผมขอแนะนำว่าจะต้องรู้จักอีกฝ่ายเกี่ยวกับเรื่อง "เงิน" อย่างน้อยใน 2 เรื่องคือ ลักษณะนิสัยการใช้เงินของแต่ละฝ่าย และ การวางแผนการเงินร่วมกันหลังแต่งงานแล้ว ทั้งสองเรื่องนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวให้ยั่งยืนได้หากมีการเตรียมการที่ดี

เรียนรู้ลักษณะนิสัยการใช้เงิน การเรียนรู้ลักษณะนิสัยการจับจ่ายใช้สอย การเก็บออม เป้าหมายการใช้เงินของแต่ละฝ่ายเป็น จะทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่านิสัยการใช้เงินเช่นนี้จะส่งผลเช่นไรในอนาคต อาทิ หากสังเกตพบว่าฝ่ายหนึ่งไม่มีการวางแผนการใช้เงิน ชอบช็อปปิ้งซื้อของตามที่ตนเองต้องการโดยไม่ได้พิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ทำให้ไม่มีเงินเก็บสะสมหรืออาจทำให้มีหนี้บริโภค เราก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า หากเราแต่งงานโดยไม่ตกลงเรื่องการใช้จ่ายให้ดี ครอบครัวย่อมเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงควรมีการเจรจาตกลงร่วมกันว่า เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องใช้จ่ายเงินเช่นไร 

วางแผนการเงินในครอบครัวก่อนแต่งงาน การตกลงเรื่องการเงินจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกันในระยะยาว ทั้งคู่จึงควรปรึกษาหารือเรื่องการเงินการกำหนดงบประมาณการใช้จ่ายและการเก็บออมในแต่ละเดือน โดยควรพิจารณาครอบคลุมด้านต่าง ๆ อาทิ การเปิดเผยสถานะทางการเงินของกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการใช้เงินต่อไป การตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว-ส่วนรวม เพื่อเป็นการสร้างความรับผิดชอบและลดความตึงเครียดในการใช้จ่าย การตกลงเรื่องการออมทรัพย์ร่วมกัน เพื่อเก็บออกไว้ใช้ในยามจำเป็นทุกด้านและความมั่นคงของชีวิตในอนาคต

การตกลงเรื่องการใช้เงินเหล่านี้ต้องพูดคุยกันก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานกัน เพราะหากไม่มีการสื่อสารทำความตกลงกันก่อน แม้มี “ความรัก” เชื่อมทั้งคู่ไว้ด้วยกัน แต่หากเมื่อแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกันแล้วมีปัญหาการใช้เงิน ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของกันและกัน ย่อมตามมาด้วยปัญหาในชีวิตคู่ที่ทั้งสองฝ่ายคาดไม่ถึง และลืมเลือนความรักที่เคยมีต่อกันได้ในที่สุด

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...