วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูประบบห้องสมุดฮาร์วาร์ด ตอนที่ 1/4

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับการยอมรับว่าเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพและใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สนับสนุนงานทางด้านวิชาการของคณาจารย์ พนักงานและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นเสมือนคลังสติปัญญาที่นักวิจัยและนักวิชาการทั่วโลกต่างหลั่งไหลเข้าใช้บริการ

ปัจจุบันระบบห้องสมุดแห่งนี้ มีห้องสมุดย่อยที่อยู่ในการดูแลทั้งหมดถึง 73 แห่ง ประกอบด้วยพนักงานประจำ 1,200 คน หนังสือทั้งหมด 16.3 ล้านเล่ม เอกสารดิจิตอล 12.8 ล้านฉบับ มีส่วนช่วยสนับสนุนงานทางด้านวิชาการให้กับนักศึกษามากกว่า 20,000 คน คณาจารย์ 2,100 คน และพนักงานมหาวิทยาลัยอีกทั้งหมด 12,900 คน

อย่างไรก็ตาม เพื่อพัฒนาระบบบริการให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้รองรับกับการพัฒนาทางด้านสติปัญญาในช่วงศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2001 – 2100) คณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารจัดการห้องสมุดแห่งนี้ใหม่ เนื่องด้วยระบบที่มีอยู่ยังไม่สามารถทำให้บรรลุตามวัตถุดังกล่าวได้ ซึ่งในที่นี้มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการห้องสมุดทั้งจากภายในและภายนอก อาทิ การอ่อนตัวของค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ และวิกฤตทางด้านการเงินปัจจุบัน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีของโลก ค่าใช้จ่ายทางด้านสิ่งพิมพ์ วารสาร และทรัพยากรห้องสมุดอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งทิศทางนโยบายการทำงานวิชาการข้ามสาขาวิชาร่วมกัน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...