วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รักการอ่านควบคู่พัฒนาการเขียน หนทางสู่ความสำเร็จ แอนเดรียนา ริช ตอนจบ

ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างที่เป็นทั้งนักเขียน นักประพันธ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม แอนเดรียเน ริช ยังได้ถ่ายทอดความรู้ของตนเองสู่คนรุ่นใหม่ ผ่านการเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ (Rutgers University) มหาวิทยาลัยรัฐซานโฮเซ (San Jose State University)

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากตัวอย่างชีวิตของ แอนเดรียเน ริช นั่นคือ ความสำเร็จอันเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่าน และมีการถ่ายทอดออกมาผ่านงานเขียน ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มพูนความรู้ แต่สามารถส่งผ่านพลัง สื่อสารความรู้ ความคิดออกไปผ่านตัวอักษร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง

ผมเห็นว่า การอ่านและการเขียน ต่างเป็นทักษะในการปูพื้นฐานที่ทำให้ เราสร้างสติปัญญาผ่านกิจกรรมที่ทำ ดังคำกล่าวของ เซอร์ฟรานซิส เบคอน นักเขียนและนักปรัชญาชาวอังกฤษว่า “การอ่านทำให้คนได้รับการเติมเต็มบริบูรณ์ การอภิปรายถกเถียงทำให้คนมีความพร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่มีความคมชัด”

การพัฒนาทักษะการอ่านนั้น สามารถทำได้ไม่ยาก อาทิเช่น อ่านหนังสือที่ช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ โดยอ่านหนังสือ 2 ประเภท คือ หนังสือที่เราชอบ และ หนังสือที่ตนเองต้องอ่าน รวมถึงการอ่านหนังสือให้ครบทุกด้าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ เสริมทักษะในด้านต่าง ๆ บริหารเวลาในการอ่าน เราควรกำหนดเวลาอย่างเฉพาะเจาะจงในการอ่านหนังสือ โดยพยายามคำนวนจากหนังสือที่เราต้องอ่าน ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ เราควรเป็นนักอ่านแบบ อ่านเพื่อเรียนรู้ โดยทำความเข้าใจ ว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไร ฝึกตอบโต้ทางความคิดกับผู้เขียน ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือลองคิดสร้างสรรค์ ที่อาจไม่สอดคล้องกับงานเขียนทีเราอ่าน ไม่เพียงเท่านั้นการอ่านเรียนรู้ยังทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ คำศัพท์สำนวนใหม่

ส่วนการพัฒนาทักษะการเขียน แท้จริงแล้วทักษะด้านการเขียนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นผลผลิตจากการกลั่นกรองความคิด และการฝึกใช้เหตุและผล นอกจากนี้การฝึกฝนทักษะการเขียน ยังเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนให้การฝึกฝนทักษะการอ่าน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาทักษะการเขียน อาจเริ่มต้นโดย ศึกษารูปแบบ วิธี และแนวทางในการเขียนของนักเขียนที่ชื่นชอบ หรือที่เขียนได้ดี ฝึกฝนการเขียนที่ตรงใจผู้อ่านมากขึ้น โดยหาช่องทางเผยแพร่งานเขียน และรับฟังคำติชม เช่น ส่งบทความลงนิตยสารในสถาบันการศึกษา หนังสือพิมพ์ วารสาร เว็บบล็อค ฯลฯ รวมถึงการอ่านเพื่อสั่งสมข้อมูลความรู้ มาเป็นวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการเขียนให้มีความหลากหลายและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

การเขียนควบคู่การอ่านเป็นทักษะที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาชีวิต ให้เราเป็นนักอ่านที่มีคุณภาพ เป็นการส่งเสริมการคิด และสามารถสื่อสารอย่างเป็นระบบระเบียบ ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของตลอดชีวิต สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และได้รับแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...