วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หยุด!!! คัดลอกผลงาน สร้างสังคมฐานความรู้ ตอนต้น

ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 4 จัดขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การโจรกรรมทางวิชาการ หรือ ขโมยคัดลอกผลงาน (Plagiarism) ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีนักวิชาการ หรือ ผู้เกี่ยวข้องหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบ่อยครั้งนัก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการคัดลอกหรือขโมยผลงานผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม ซึ่งมีความเป็นห่วงประเทศไทยเนื่องจาก ปัจจุบันบางคนยอมทำทุกอย่าง ให้ได้มาซึ่งการสร้างผลงานทางวิชาการ เพื่อการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง โดยไม่สนใจหลักคุณธรรม จริยธรรม

นพ.กิตติศักดิ์ กุลวิชิต อาจารย์ภาควิชาจักษุ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมบรรยายกล่าวถึงปัญหาของการขโมยความคิดคือ การไม่อ้างอิงผลงานของผู้ที่ไปหยิบยกมาใช้ ส่งผลให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า ผลงานนั้นเป็นของผู้เขียน ในงานวิจัยที่ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษพบว่า มีการคัดลอกแบบคำต่อคำ อีกทั้งนักศึกษาส่วนหนึ่งคัดลอกประโยคจากวารสารวิชาการ เพื่อใช้อธิบายงานวิจัยของตัวเอง

ปัญหาดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรม อีกทั้งส่งผลร้ายต่อผู้กระทำในระยะยาวคือ การบั่นทอนทักษะการคิดของตน และยังทำให้องค์ความรู้หยุดอยู่กับที่ ไม่ได้ถูกต่อยอดทางความคิดต่อไป

ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังพบปัญหาเหล่านี้อยู่บ้าง โดยเฉพาะในอดีตที่มีการกล่าวหากัน ทั้งการคัดลอกงานเขียน รายงานของนักศึกษา ผลงานทางวิชาการ บุคลากรมหาวิทยาลัยที่นำแนวคิดผู้อื่นมาเป็นของตน หรือแม้แต่ภาพวาด ภาพการ์ตูน ซึ่งกลายกรณีพิพาท และฟ้องร้องกันอยู่เป็นระยะ

มหาวิทยาลัยเองไม่ได้นิ่งดูดาย และตระหนักว่า การคัดลอกผลงานผู้อื่น เป็นเสมือนอาชญกรรมประเภทหนึ่ง หากผู้ใดต้องการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ ควรได้รับอนุญาตจากเจ้าของ และให้เกียรติเจ้าของผลงาน ด้วยการอ้างอิงถึงแหล่งที่มา ทั้งนี้ได้วางกลไก และมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา อันอาจกระทบต่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย

มีระบบตรวจสอบในรูปของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งพัฒนากระบวนการตรวจจับให้มีความละเอียดมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลนับล้าน ๆ ในอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น ระบบดังกล่าวจะใช้ร่วมกับการทำงานของคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อวิเคราะห์และตัดสินผู้กระทำ มีความตั้งใจกระทำการคัดลอกผลงานคนอื่นจริงหรือไม่

ที่ผ่านมามีการใช้ระบบนี้ตรวจจับการคัดลอกผลงานผู้อื่น ในข้อเขียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย พบว่า ข้อเขียนราวร้อยละ 11 จากข้อเขียนกว่า 27,000 ชุด ที่เชื่อได้ว่ามีการคัดลอกจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่นิตยสารวอลสตรีท (The Wall Street Journal)

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...