วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หยุด!!! คัดลอกผลงาน สร้างสังคมฐานความรู้ ตอนจบ

มีระบบการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี โดยให้ตระหนักถึงการเคารพและให้เกียรติความคิด ผลงานผู้อื่น การสื่อสารและการให้ข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ ป้องกันความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำการที่เข้าข่ายขโมยคัดลอกผลงานผู้อื่น อาทิเช่น ส่งอีเมล์ให้นักศึกษาใหม่ เพื่อแนะนำวิธีอ้างอิงที่ถูกต้องอื่นมาใช้ สื่อสารในชั้นเรียน โดยให้ผู้สอนกล่าวย้ำถึงการให้เกียรติความคิดของคนอื่น รวมถึงบทลงโทษที่มหาวิทยาลัยมีต่อผู้ที่ขโมยคัดลอกผลงานผู้อื่น

สิ่งที่อาจารย์ร่วมกันสื่อสารในประเด็นนี้มีตั้งแต่ การบอกถึงความร้ายแรงและโทษของการคัดลอกผลงานผู้อื่น โดยไม่อ้างอิง รวมถึงมีการยกตัวอย่างนักเขียน นักวิชาการส่วนหนึ่ง ที่พลาดรางวัลต่าง ๆ เนื่องจากมีการพบว่า คัดลอกผลงานคนอื่นมาเป็นของตน เพื่อให้นักศึกษาตระหนัก และไม่กระทำการอันหมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหา

บทเรียนจากฮาร์วาร์ดในเรื่องนี้ ทำให้เราต้องหันกลับมามองดูประเทศไทย ที่ก้าวสู่สังคมฐานความรู้ ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ ไม่ใช่เกิดจากการคัดลอก ด้วยเหตุจึงต้องมีการวางระบบและกลไกตรวจสอบที่ดี ให้ทุกคนเคารพสิทธิของผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศได้ต่อไป

ศึกษาวิจัยปัญหาและแนวทางป้องกัน รัฐควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของนักเรียนนักศึกษา โดยการคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของผู้อื่น และไม่มีการอ้างอิง โดยอาจตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ หรือร่วมมือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ศึกษาวิจัยค้นหาแนวทางป้องกันและคิดค้นระบบตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และหรือ การคัดลอกผลงาน

สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ พัฒนาระบบตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบตรวจสอบ แต่หากมีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานในต่างประเทศที่สนใจศึกษา พัฒนาระบบ โปรแกรมตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ที่สามารถตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อนำมาตรวจสอบรายงาน วิทยานิพนธ์ ของนักศึกษา และผลงานวิจัยที่มีอยู่ในประเทศไทย

ร่วมปลูกจิตสำนึกการให้เกียรติผลงานผู้อื่น ตั้งแต่วัยเยาว์ ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับสถานศึกษา ถึงรัฐบาล ที่เริ่มต้นปลูกฝังจิตสำนึกในการให้เกียรติผลงาน ความคิดของผู้อื่น และบังคับใช้บทลงโทษ กฎหมายอย่างจริงจังสำหรับผู้ที่ละเมิด อาทิ

ผู้สอนบอกวิธีการอ้างอิงที่ถูกต้อง เมื่อมอบหมายให้ผู้เรียนทำรายงาน และย้ำให้เห็นถึงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้เรียนคัดลอกผลงานผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง การสอดแทรกค่านิยมการให้เกียรติผลงานผู้อื่น ในการเรียนการสอนทุกวิชา ย้ำให้ถึงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้เรียนคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง

การขโมยคัดลอกผลงาน ส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาวคือ สร้างความถดถอยของการสร้างองค์ความรู้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องสร้างระบบตรวจสอบที่ดี และสร้างจิตสำนึกที่ดีของคนในชาติ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศได้ต่อไป

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...