วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

แตกประเด็น นโยบายลดภาษี ตอนที่ 1/2

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

คอลัมน์ :  แนวคิด ดร.แดน
การลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นแนวคิดที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา เช่นเดียวกับรัฐบาลปัจจุบัน รัฐมนตรีคลังได้กล่าวถึงข้อเสนอการลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 18 โดยความเห็นส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับหลักการของการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะการเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราที่สูงเป็นเหมือนการลงโทษผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ทำให้เกิดผลผลิตและการจ้างงาน

ลดอัตราภาษีที่ปรากฏหรืออัตราภาษีที่แท้จริง?

การดำเนินนโยบายนี้ยังมีความจำเป็น เพราะอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง (ร้อยละ 16.5) สิงคโปร์ (ร้อยละ 17) มาเลเซีย (ร้อยละ 25) เวียดนาม (ร้อยละ 25) จีน (ร้อยละ 25) ไต้หวัน (ร้อยละ 25) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 27.5) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 28) ฯลฯ

ถึงแม้ว่าอัตราภาษีที่แท้จริง (หรือ Effective corporate tax rate ซึ่งคำนวณจากการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล) ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 แต่ยังสูงกว่าอัตราภาษีที่แท้จริงของฮ่องกง (ร้อยละ 4) สิงคโปร์ (ร้อยละ 8.5) ไต้หวัน (10.9) เวียดนาม (11.7) และจีน (16.6)

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราภาษีนิติบุคคลยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศในกลุ่ม OECD มีอัตราภาษีเฉลี่ยลดลงจากร้อยละ 33.9 ในปี 2540 เหลือร้อยละ 24.0 ในปี 2553 และประเทศในเอเชีย (อาเซียน 5 ประเทศ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย) มีอัตราภาษีเฉลี่ยลดลงจากร้อยละ 29.5 ในปี 2540 เป็นร้อยละ 25.1 ในปี 2552 ขณะที่ประเทศไทยคงอัตราภาษีที่ร้อยละ 30 มาโดยตลอด ต้นทุนภาษีนิติบุคคลจึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยถดถอยลง

นโยบายนี้ยังจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น หากนโยบายนี้จะทำให้สถานประกอบการทุกแห่งต้องจ่ายภาษีในอัตราเดียวกัน เพราะในปัจจุบัน บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราต่ำกว่าสถานประกอบการอื่นๆ

แต่นโยบายนี้อาจมีประสิทธิผลไม่มากนักในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในระยะสั้น เพราะในความเป็นจริง มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของ BOI ให้สิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่าการลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 18 อยู่แล้ว โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาหลายปี และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่เป็นคู่แข่งขันของไทยล้วนให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2

1 ความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...