วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ตลาดแรงงานไทยในอนาคต

ปัจจุบันไทยมีความต้องการแรงงานระดับอาชีวศึกษาอย่างมาก จากผลการศึกษาความต้องการกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขาดแคลนกำลังคนระดับกลางหรือระดับปฏิบัติการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้จบระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งกว่าร้อยละ 75 ของผู้จบการศึกษาระดับนี้ เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี นอกจากนั้น ผู้จบการศึกษาใหม่ ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตรงลักษณะงาน โดยสถานประกอบการส่วนใหญ่ ต้องฝึกอบรมต่ออีกอย่างน้อย 3-6 เดือน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเพิ่มมากขึ้น

จากโครงการวิจัย “แผนพัฒนากำลังคนของประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุนการศึกษาสายสามัญอย่างไม่จำกัดและละเลยการศึกษาสายอาชีพ ส่งผลให้ผู้เข้าศึกษาต่อสายอาชีพลดลง จากการวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ ได้คำนวณตัวเลขประมาณการผู้สำเร็จการศึกษา ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานระหว่างปี 2550-2559 พบว่าทุกปีจะมีจำนวนแรงงานจากทุกระดับการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น โดยแรงงานระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด หากพิจารณาปริมาณความต้องการตลาดแรงงานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนความต้องการแรงงานระดับอาชีวศึกษามากกว่าแรงงานระดับปริญญาตรี พิจารณาจากตัวเลขความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมปี พ.ศ. 2550-2554 ตลาดแรงงานต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่ม 33,255 คน ในขณะที่ต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีเพิ่มจำนวน 21,797 คน และใน 5 ปีหลัง (2555-2559) ตลาดแรงงานต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่ม จำนวน 26,213 คน ต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีเพิ่มจำนวน 17,245 คน ดังนั้น จึงต้องเร่งผลิตกำลังคนสายอาชีพ กำลังคนระดับกลางหรือระดับปฏิบัติการที่มีคุณภาพที่มีคุณภาพและสอดคล้องตามความต้องการตลาดแรงงาน

สถาบันอาชีวศึกษาไทยที่มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ควรพัฒนาระบบวิเคราะห์หาความต้องการตลาดแรงงาน เพื่อพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องความต้องการ โดยไม่มุ่งผลิตกำลังคนและองค์ความรู้ตามความพร้อมของสถาบันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการมีคณะกรรมการที่ปรึกษาโดยเฉพาะ การสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์หาความต้องการแรงงาน เป็นต้น อีกทั้งรัฐควรพัฒนาการอุดหนุนทรัพยากรมากเป็นพิเศษ สำหรับกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษาที่ผลิตกำลังคนในสาขาขาดแคลน

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...