วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

แตกประเด็น นโยบายลดภาษี ตอนที่ 2/2

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ส่วนวัตถุประสงค์ของนโยบายในการสร้างจูงใจให้สถานประกอบการชำระภาษีครบถ้วน และดึงดูดสถานประกอบการนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบนั้น จะยังไม่บรรลุผลในระยะสั้นหรือระยะกลาง เพราะผู้ประกอบการนอกระบบยังคงมีต้นทุนของการอยู่นอกระบบต่ำกว่าการเข้ามาอยู่ในระบบ ถึงแม้ว่าจะลดอัตราภาษีลงแล้วก็ตาม เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะกำหนดมาตรการเพื่อเพิ่มต้นทุนของการอยู่นอกระบบ

อย่างไรก็ดี ผมยังมีข้อสงเกตเกี่ยวกับการนโยบายลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 18 บางประการ

ลดอัตราภาษีที่ปรากฏหรืออัตราภาษีที่แท้จริง?

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 30 แต่หากพิจารณาอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แท้จริง (Effective corporate tax rate) ซึ่งคำนวณจากการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17

คำถามคือ นโยบายนี้เป็นเพียงการลดอัตราภาษีที่ปรากฏให้เท่ากับอัตราภาษีที่แท้จริง? หรือลดทั้งอัตราภาษีที่ปรากฏและอัตราภาษีที่แท้จริง?

หากเป็นเพียงการลดอัตราภาษีที่ปรากฏให้เท่ากับอัตราภาษีที่แท้จริง โดยมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ จะต้องถูกยกเลิกไป การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นเพียงการสร้างภาพเท่านั้น เพราะไม่ทำให้ต้นทุนของภาคการผลิตลดลงแต่อย่างใด หวังประโยชน์ด้านอื่นของนโยบายหรือไม่?

รัฐบาลได้กล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการผลักดันนโยบายนี้ คือการชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากนโยบายขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 25 ภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้นโยบายนี้ไม่มีประสิทธิผลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การสร้างจูงใจให้สถานประกอบการชำระภาษีครบถ้วน และการดึงดูดสถานประกอบการนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะหักลบกับต้นทุนภาษีที่ลดลง

มีการจัดเก็บรายได้อื่นชดเชยหรือไม่?

การดำเนินนโยบายนี้ยังมีประเด็นที่พึงระวัง คือ การขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง ในขณะที่รายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากแนวนโยบายที่มีทิศทางเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น ถึงแม้ว่าการลดอัตราภาษีนิติบุคคลจะทำให้ภาคการผลิตมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นและผลผลิตขยายตัวขึ้น ส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สามารถชดเชยรายได้จากภาษีนิติบุคคลที่ลดลง

หากพิจารณาโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐ พบว่าสัดส่วนรายได้ของรัฐพึ่งพารายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงถึงร้อยละ 28.7 ในปี 2551 ขณะที่กลุ่มประเทศ OECD มีสัดส่วนดังกล่าวเพียงร้อยละ 10 และกลุ่มประเทศ OECD ยังมีรายได้ของรัฐบาลโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 35 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ของรัฐบาลเพียงร้อยละ 18 ของจีดีพี

คำถามคือ รัฐบาลมีนโยบายในการจัดเก็บรายได้อื่นเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะหากรัฐบาลไม่ได้เตรียมนโยบายเพิ่มการจัดเก็บภาษีอื่นเพื่อหารายได้มาชดเชยรายได้จากภาษีนิติบุคคลที่ลดลงแล้ว จะสร้างปัญหาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวอย่างแน่นอน

รัฐบาลควรลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แท้จริงลงด้วย โดยลดอัตราภาษีที่ปรากฏและคงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการขอลดหย่อนภาษีไว้ รวมทั้งดำเนินการลดอัตราภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจัดหารายได้เพิ่มจากทางอื่น โดยเฉพาะการเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีทรัพย์สิน ตลอดจนการสนับสนุนการออมระยะยาวของประชาชน

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ13 เมษายน 2554 เวลา 21:42

    จัดเก็บอย่างเป็นธรรม และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไม่เอาเปรียบกัน

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ15 เมษายน 2554 เวลา 18:17

    ภาษีไม่เห็นเป็นธรรมเลย

    ตอบลบ
  3. ต้องผลักดันให้เป็นธรรม

    ตอบลบ

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...