วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“สอนมีคุณภาพ สร้างคนมีคุณภาพ” เรียนรู้ระบบสอนของฮาร์วาร์ด ตอนจบ

เตรียมการสอนอย่างเป็นระบบ อาจารย์ส่วนใหญ่จะมีการวางแผนการสอนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ เตรียมเอกสาร สื่อประกอบการสอน เตรียมวิธีดำเนินการสอนในแต่ละคาบเรียน เช่น จัดเตรียมหนังสือที่ต้องอ่านทั้งหมดของภาคเรียนนั้น เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาเพิ่มเติมล่วงหน้า บางวิชาจะจัดเวลาเรียนเพิ่มเติม โดยให้ผู้ช่วยสอนเข้ามาดูแลช่วงนั้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทบทวนความรู้ ซักถามเพิ่มเติมหากมีข้อสงสัย เป็นต้น

สาระควบคู่ความสนุก การสอนที่ฮาร์วาร์ดนั้นอาจเรียกได้ว่า ได้ทั้งเนื้อหาสาระพร้อม ๆ ไปกับความสนุกสนานที่ผู้เรียนจะได้รับ เนื่องจากอาจารย์แต่ละท่านจะมีวิธีการสอนที่สามารถสอดแทรกความสนุกสนานไปด้วย ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อหน่าย อาทิเช่น ผู้สอนมีการเล่าเรื่องตลก หรือเรื่องราวที่ตื่นเต้นสอดแทรกในการเรียนการสอน ทำกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ หรือใช้สื่อการสอนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ เพื่อเพิ่มสีสันในการเรียนรู้

นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ซึ่งมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า หากผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพูดหรือร่วมทำกิจกรรมในชั้นเรียน จะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีประสิทธิผลและมีความคงทนของการเรียนรู้มากกว่าการอ่าน การได้ยิน และการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในระหว่างการเรียนการสอน อาจารย์ทุกท่านจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนระดมความคิดกับเพื่อนในประเด็นที่ตั้งคำถาม และให้นักศึกษาคนอื่นได้ถกเถียงในประเด็นที่เพื่อนนำเสนอ

ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าจะมาจากชาติใด จะได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน และยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะถือว่า ทั้งอาจารย์และศิษย์ ล้วนสามารถเรียนรู้กันและกันได้ สิ่งสำคัญคือ ไม่มีความโน้มเอียง หรือสองมาตรฐานในการให้คะแนน ผู้เรียนที่ทำดีจะได้รับคำชมเชย ผู้เรียนที่ทำผิดกฎควรได้รับการลงโทษ

เข้มงวดแต่เป็นมิตรกับผู้เรียน ผู้สอนจะเป็นคนที่มีความสมดุลระหว่างการเข้มงวด และความประนีประนอม ยืดหยุ่นในการสอน เช่น ไม่เข้มงวดกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากเกินไป ไม่ใช้อารมณ์ในการสอน การสั่งงาน หรือการลงโทษ แต่พยายามเข้าใจกับผู้เรียนแต่ละคน มีความเป็นมิตรกับผู้เรียน รวมถึงให้กำลังใจผู้เรียนอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน

ใช้คำพูดเหมาะสมกับผู้เรียน ผู้สอนจะเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เพราะผู้เรียนแต่ละคน แต่ละระดับชั้น แต่ละเพศ มีความแตกต่างกัน เลือกใช้คำที่เหมาะกับผู้เรียนที่แสดงถึงการให้เกียรติผู้เรียนแต่ละคน เช่น ระวังการใช้คำพูดกับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม เป็นต้น

ช่วยทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียน การที่ผู้เรียนได้รื้อฟื้น ทำความเข้าใจในวิชานั้น ๆ เพราะการเรียนในหลายวิชา อาจเกิดความสับสน การได้มีโอกาสทบทวนก่อนการสอน และก่อนการสอบ จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเรื่องที่เรียนผ่านมาอีกครั้ง และช่วยลดความเครียดให้กับผู้เรียน

วิธีทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียนของการสอนในฮาร์วาร์ด ตัวอย่างเช่น ตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบหรือแสดงความคิดเห็น ให้ผู้เรียนทำรายงานสรุปสิ่งที่เรียนรู้มา จัดชั้นพิเศษเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสทบทวนความรู้เป็นกลุ่ม จัดชุดเอกสารประกอบการเรียน ซึ่งรวบรวมบทความ ข้อเขียนจากแหล่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้น จัดทำเป็นชุดให้นักศึกษา เพื่อลดเวลาในการถ่ายเอกสารหรือค้นคว้าข้อมูลเป็นต้น

ตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแบบอย่างของการสอนที่ดี ซึ่งผมเชื่อว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับทั้งวิชาความรู้ไปพร้อมกับความสนุกสนาน และกระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียนรู้มากขึ้น

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...