ชีวิตในวัยเรียนของ แคส ซันชไตน์ เป็นทั้งนักกิจกรรมตัวยง และผู้เรียนที่มีผลการเรียนที่ดี ในระดับแนวหน้าของฮาร์วาร์ด โดยเขาคว้าปริญญาเอกเกียรตินิยมในสาขากฎหมาย จากวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด ในปี ค.ศ.1978 ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อปี ค.ศ.1971 เขาได้เข้ามาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ช่วงระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น เขาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทั้งการร่วมงานกับทีมสคอร์ช (Varsity squash team) ทีมงานของนิตยสารฮาร์วาร์ดแลมพูน (Harvard Lampoon) และยังเป็นบรรณาธิการของนิตยสารฮาร์วาร์ดซีวิล ไรท์ ซีวิล ลิเบอร์ตี้ ลอว์ รีวิว (Harvard Civil Rights-Civil Liberties Law Review)
ภายหลังจบการศึกษา แคส ซันชไตน์ ได้เริ่มต้นงานด้านกฎหมาย ในสำนักงานกฎหมาย ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ต่อมาเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย และเริ่มสนใจสอนวิชารัฐศาสตร์ จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ ทั้งด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์
แคส ซันชไตน์ ได้กลับสู่รั้วฮาร์วาร์ดอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1987 ในฐานะศาสตราจารย์อาคันตุกะ (visiting professor) ของวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด โดยรับหน้าที่สอนในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ เขายังได้รับเชิญให้สอนวิชาพื้นฐานกฎหมาย แก่นักศึกษาที่เข้าเรียนในปีแรก วิชาดังกล่าวนับเป็นการปูพื้นฐานผู้เรียน ให้มีความรู้อย่างเป็นสหวิทยาการ โดยเป็นการเสริมความรู้ ทั้งด้านกฎหมายและการใช้เหตุผล ทฤษฎีกฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ ต่อมาในปี ค.ศ.2008 เขาได้รับเชิญเป็นผู้อำนวยการโครงการควบคุมความเสี่ยง (Risk Regulation) ของวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด
การได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ โครงการควบคุมความเสี่ยงนี้ ได้สะท้อนถึงความสามารถในเชิงสหวิทยาการของ แคส ซันช์ไตน์ เนื่องจากเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการประเมินความเป็นไปได้ ของนโยบายและกฎหมาย ต่อสถานการณ์ในขณะนั้น โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เช่น การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ ฯลฯ
ความสามารถที่โดดเด่น ทำให้ แคส ซันช์ไตน์ ถูกเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานของรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา ในส่วนงานด้านข้อมูลข่าวสารและการกำกับดูแล ซึ่งทำหน้าที่สร้างความเข้าใจระหว่างงานด้านกฎหมายและสิ่งแวดล้อม เมื่อต้นปี ค.ศ.2009
แม้ว่าเขาจะมีงานจำนวนไม่น้อย แต่ยังได้แบ่งเวลาส่วนหนึ่งในการเขียนบทความลงในเว็บบล็อค และเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารหลายฉบับ ผลงานด้านงานเขียนของเขาเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 จนปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของงานเขียน 15 เล่ม และบทความวิชาการหลายร้อยเรื่อง
แคส ซันช์ไตน์ ยังได้รับเชิญจากหน่วยงานรัฐบาล ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ยูเครน โปแลนด์ จีน แอฟริการใต้ และรัสเซีย
แบบอย่างจากชีวิตของ แคส ซันช์ไตน์ ทำให้เราเห็นภาพของนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สามารถเรียนรู้ทั้งในเชิงลึกในสาขาที่ตนสนใจ และเรียนรู้อย่างเป็นสหวิทยาการ ส่งผลให้สามารถนำความรู้ที่ตนมีอยู่ มาใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายช่องทาง ทั้งการเป็นอาจารย์ นักเขียน และนักปฏิบัติ ฯลฯ
คุณสมบัติการเป็นนักเรียนรู้ ที่มีส่วนสนับสนุนให้ แคส ซันช์ไตน์ กลายเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั้งการเรียนและการทำงาน ซึ่งเราอาจพัฒนาท่าทีและพฤติกรรมของการเป็นนักเรียนรู้ ที่สำคัญดังนี้
เห็นคุณค่าเรียนรู้ ให้ความสำคัญและเข้าใจประโยชน์ของการเรียนรู้ ปรารถนาเรียนรู้ทุกเรื่อง ทุกโอกาส ไม่จำกัดความรู้อยู่เพียงสาขาที่ตนสนใจ แต่ขยายไปสู่สาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถค้นหาทางออกที่ดีที่สุด ในการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ปรารถนาพัฒนาชีวิต มีความปรารถนาที่จะพัฒนาตนเองในทุกด้าน ทั้งลักษณะชีวิต ความรู้ ความสามารถ และฉวยโอกาสในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนา เพิ่มพูน ความสามารถอยู่เสมอ ซึ่งเป็นลักษณะและพฤติกรรมที่สะท้อนมาจากการเห็นคุณค่าความรู้
ถ่อมตนเรียนรู้ ตระหนักเสมอว่า ตนเองไม่ได้มีความรู้ที่สุดในทุกเรื่อง ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และนำมาพิจารณาใคร่ครวญ เพื่อแยกแยะสาระ นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคม
ช่างคิดและสังเกต สนใจที่จะคิดใคร่ครวญทุกเรื่อง โดยไม่ปล่อยให้ข้อมูลหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านไป มีความพยายามในการจดจำ เก็บรายละเอียดให้ได้มากเพียงพอ สำหรับเป็นฐานการคิด และต่อยอดความรู้ความเข้าใจออกไป
อุตสาหะพากเพียร ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการพาตนเองเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ เข้าสู่แหล่งเรียนรู้ และมุ่งมั่นที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ของตน หมั่นฝึกฝน ค้นคว้า หาความรู้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีระบบการสอบหรือคนมาคอยควบคุม
สิ่งสำคัญที่เราต้องไม่ลืมคือ เราจำเป็นต้องเป็นนักเรียนรู้ที่รู้อย่างหลากหลาย ทั้งในสาขาวิชาชีพที่เรียนและความรู้เชิงสหวิทยาการ นั่นคือ ควรจะรู้รอบในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นฐานของการคิดและตัดสินใจ จากการพิจารณาทุกมุมมอง และสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม รอบคอบเพียงพอ
การเรียนรู้ นับเป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนาตนเอง ให้กลายเป็นบุคคลที่สามารถประสบความสำเร็จได้ ทั้งในและนอกรั้วการศึกษา รวมถึงเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ให้เพิ่มพูนและสามารถนำไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และสังคมต่อไป
Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น