วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจมส์ อะกี ผู้ไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว ตอนจบ

James Rufus Agee (1909–1955)
ในปี ค.ศ.1955 เจมส์ อะกีเสียชีวิต ด้วยวัยเพียง 45 ปี แต่เขาได้ฝากผลงานจำนวนมากให้แก่สังคม และหลายชิ้นได้สร้างชื่อเสียง จนเป็นที่จดจำของคนรุ่นต่อมา ไม่ว่าจะเป็น นิยายอิงอัตชีวประวัติของเขาเรื่อง “A Death in the Family” ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี ค.ศ.1958 รวมถึงตัวเขาเองได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลอคาเดมี (Academy Award) สาขาวรรณกรรมยอดเยี่ยม เมื่อปี ค.ศ.1981

ผลงานหลายชิ้นที่ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ และสร้างเป็นภาพยนตร์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้แนวความคิด และวิธีการทำงานที่แสดงถึงความกล้าที่จะลองผิดลองถูก กล้าแสดงออกถึงความคิด การทำงานที่แตกต่างจากกรอบความคิดแบบเดิม ๆ รวมถึงไม่ย้อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น

เจมส์ อะกี ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะชีวิตที่มองข้ามอุปสรรคในการทำงาน กล้าที่จะฝันและทำในสิ่งที่แตกต่าง จนสามารถเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และได้ทิ้งมรดกทางความคิดและแบบอย่างชีวิตที่สำคัญแก่คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา

หลายครั้งที่เราอาจพบกับความล้มเหลว ผิดหวัง ทั้งจากการเรียน การทำงาน แต่หากเราเรียนรู้จากความล้มเหลว โดยมองด้วยความเข้าใจอย่างสายตาของผู้ชนะ เพื่อนำความล้มเหลว มาปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการทำงาน ให้เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ชัยชนะได้

เปิดใจยอมรับความล้มเหลว เราควรกล้าที่มองดูความล้มเหลวของตนเอง ด้วยการเปิดใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และทบทวนหาสาเหตุ เรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ไม่หมดกำลังใจในการริเริ่มทำงานใหม่ เพราะหลายครั้งโอกาสแห่งความสำเร็จนั้นมักจะมาจากความเสี่ยง อย่างไรก็ตามเราควรทำอย่างรอบคอบ เพื่อลดโอกาสแห่งความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น

ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เป็นธรรมดาที่บางครั้งเราอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีของเรา มองในแง่บวก คือ โอกาสที่จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ข้อบกพร่องที่เราถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้เราเกิดความเอาใจใส่ในพฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจงที่เราต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น หากเราใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง แทนการตอบสนองแบบผิด ๆ ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตการทำงานของเรา

สำรวจเพื่อแก้ไขตนเอง เมื่อเราได้รับข้อวิพากษ์ เราควรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราสามารถเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ด้วยการถามตัวเองว่า “ฉันได้ทำสิ่งที่พวกเขากล่าวจริงหรือไม่?” “สิ่งที่เขากล่าวนั้น มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้สนับสนุนหรือไม่ “ฉันควรจะจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร?” “ฉันควรจัดการกับคนที่กล่าวเช่นนี้อย่างไร เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวผู้ที่กล่าวหาฉัน และตัวฉันเอง?” เป็นต้น

ไม่มีใครสามารถปฎิเสธได้ว่า “ความล้มเหลวนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนทุกคน แม้คนที่เก่งที่สุด เด่นที่สุด ฉลาดที่สุด ประสบความสำเร็จมากที่สุด” ยังต้องพบกับความล้มเหลวบ้างในชีวิต ความแตกต่างอยู่ที่ว่า เราแต่ละคนมีความคิดและการตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ถ้าไม่ขยาดกลัวหรือท้อใจไปซะก่อน แต่รู้จักใช้ประโยชน์จากความผิดพลาด ล้มเหลวอย่างถูกต้อง ย่อมเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้

ตอนต้น ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...