วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มิติที่ไม่ควรละเลยในระบบแอดมิชชั่น ตอนต้น

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา เรามักได้ยินเสียงสะท้อนถึงความยุ่งยากใจ จากระบบแอดมิชชั่น ของทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบการประมวลผลคะแนนมีปัญหา ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งไม่สามารถนำคะแนนไปสมัครในมหาวิทยาลัยที่ตนสนใจได้ทันเวลา ระบบการจัดทำระเบียนการจัดสอบ ที่ล้วนอิงกับระบบอินเทอร์เนต ทำให้เด็กเข้าถึงได้ยาก และไม่มีทางเลือกอื่น หากระบบมีปัญหา ฯลฯ

แม้ว่าส่วนหนึ่งของปัญหาอาจเกิดจาก การขาดความรอบคอบในการนำระบบมาใช้ โดยปรับระบบเร็ว ไม่มีการทดสอบระบบที่น่าเชื่อถือ ทั้งที่จริงควรมีการทดสอบระบบจนแน่ใจว่าใช้ได้ดี เพื่อลดความผิดพลาดอันเกิดจากระบบที่ยังไม่สมบูรณ์ การขาดการตัดสินใจบนฐานของงานวิจัย ประชาพิจารณา เพื่อรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และนำข้อแนะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม เป็นต้น

ในความเป็นจริง แม้ระบบดังกล่าวจะสร้างความวุ่นวายใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง ในส่วนตัวผมเห็นว่า ระบบแอดมิชชั่น โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นวิธีการวัดผลที่หลากหลาย มีการนำผลการเรียนในระดับมัธยมปลายมาพิจารณา ร่วมกับผลสอบวัดระดับความรู้ แทนระบบเก่า ที่เน้นการสอบเข้าเพียงอย่างเดียว

ด้วยเหตุนี้หากผู้เกี่ยวข้องจะนำข้อผิดพลาด มาพิจารณา เพื่อหาทางออกอย่างรอบคอบ มองในระยะยาว และมุ่งให้ความสำคัญกับการวัดผล ที่สะท้อนถึงคุณค่าของการศึกษาอย่างแท้จริง ระบบนี้ย่อมสามารถดำเนินการต่อไปได้

ประสบการณ์ในฮาร์วาร์ด ทำให้เห็นว่า การได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยระดับโลกเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งขั้นตอนการสมัคร ระเบียบการที่ผู้เรียนต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน ผู้สมัครต้องวางแผนล่วงหน้าในการกรอกใบสมัคร และเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ต้องเตรียมตัววางแผนเพื่อสร้างผลงานส่วนตัว ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการพิจารณาผู้สมัครคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ

ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในฮาร์วาร์ดนั้น มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับระบบแอดมิชชั่นซึ่งเราใช้กันอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ ใช้ผลการเรียนในระดับมัธยมปลาย มาพิจารณาร่วมกับผลสอบวัดระดับความรู้ระดับชาติ การทดสอบความสามารถทางวิชาการ ตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด แต่สิ่งที่พิเศษ นอกเหนือจากการวัดผลความรู้ ทางวิชาการนั้นคือ การพิจารณาการเข้าร่วม กิจกรรมนอกห้องเรียนในระดับมัธยมปลายของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งสะท้อนว่า ผู้สมัครมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ ยกตัวอย่างเช่น

มหาวิทยาลัยจะวิเคราะห์การใช้เวลานอกห้องเรียนของผู้สมัครว่าทำอะไรบ้าง โดยผู้สมัครจะต้องแสดงหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียน ทั้งกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กีฬา ดนตรี ศิลปะ เพื่อแสดงความสนใจที่หลากหลาย ไม่ใช่มีเพียงความเป็นเลิศทางวิชาการเท่านั้น และสะท้อนว่า ผู้สมัครมีพัฒนาการทางสังคม มีการใช้เวลาอย่างเหมาะสมหรือไม่

มหาวิทยาลัยจะพิจารณาคุณสมบัติส่วนตัวอื่น ๆ ของผู้เรียน ประกอบการรับสมัคร โดย

วิเคราะห์ตัวผู้เรียนจากการตอบคำถามของคณะกรรมการ
ผ่านการเขียนเรียงความ และตอบคำถามอัตนัยหลายข้อ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะกำหนดหัวข้อขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนทัศนคติ หลักคิด มุมมองของนักศึกษาที่มีต่อหัวข้อนั้น ๆ คัดกรองนักศึกษาที่มีวิธีคิดที่มหาวิทยาลัยต้องการ

ตอนต้น ตอนจบ


Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...