วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มิติที่ไม่ควรละเลยในระบบแอดมิชชั่น ตอนจบ

วิเคราะห์ตัวผู้เรียนจากจดหมายรับรองของอาจารย์ที่ปรึกษา
ผู้สมัครต้อง สะสมผลงาน แสดงความสนใจ ความถนัดของตนเองในขณะที่ศึกษาอยู่ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่ออาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ผู้ให้คำรับรอง ซึ่งจะทำได้คำรับรองที่มีประโยชน์ต่อผู้สมัครอย่างแท้จริง

ข้อ สังเกตที่น่าสนใจคือ ระบบการคัดกรองนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแห่งนี้ ได้ทำให้เห็นว่า การที่ฮาร์วาร์ดเป็นที่หนึ่งได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการคัดเลือกผู้เรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของมหาวิทยาลัย เพื่อมหาวิทยาลัยจะหล่อหลอมคนเหล่านั้น ให้เป็นคนตามอุดมคติของมหาวิทยาลัยได้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อแวดวงนั้นอย่างแท้จริง

ใน ส่วนตัวผู้เรียนเอง ต้องเตรียมตัวอย่างดีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การรู้จักตนเอง มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลือกศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป มีการวางแผนเวลา มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการเข้าสู่สถาบันการศึกษาที่ตนต้องการ

สิ่งสำคัญคือ การวัดผลดังกล่าว เป็นการสะท้อนองค์ประกอบที่เอื้อให้ผู้เรียน ได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนทุกด้าน และทำให้รู้จักตนเองว่ามีความชอบ มีความถนัด และสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาที่เหมาะสมกันตนเอง เมื่อต้องศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา

สะท้อนคิดสู่ระบบการวัดผลของ ไทย ผมขอเสนอว่า หากเราต้องการให้ระบบแอดมิชชั่น เป็นระบบที่ส่งเสริมให้ผู้เรียน เห็นคุณค่าการเรียนรู้ ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยไม่ได้หวังเพียงได้รับใบปริญญา เป็นใบผ่านทางสู่เป้าหมายด้านรายได้เป็นหลัก ผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การทดสอบ ที่ครอบคลุมไปถึงมิติดังกล่าวด้วย ยกตัวอย่างเช่น

มิติด้านแรงจูงใจ ในการเลือกศึกษาต่อ ตามความถนัด ความสนใจ อาทิ วิธีการให้ผู้เข้าสอบเขียนเรียงความ ถึงเหตุผลในการเลือกคณะ หรือสาขาวิชาที่ตนได้เลือกไว้ในการสอบ และจะนำความรู้ดังกล่าวมาทำประโยชน์ต่อประเทศชาติในแง่มุมใด ซึ่งเป็นวิธีการที่อาจวัดเป้าหมายแรงจูงใจในการเรียนได้ในระดับหนึ่ง และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าสอบได้มีโอกาสพิจารณา ทบทวนแรงจูงใจในการเลือกสาขาวิชาของตนอีกด้วย

มิติด้านคุณธรรม จริยธรรม ผมได้เคยเสนอแนวคิดการเก็บบันทึกการทำความดีที่บันทึกประวัติการทำประโยชน์ ให้กับสังคม เพื่อจูงใจให้นักเรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของตน เอง โดยนำเอาข้อมูลจากบันทึกการทำความดีมาเป็นคะแนนส่วนหนึ่งในการคัดเลือกคน เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ยังอาจมีการพิจารณาจดหมาย รับรอง จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่นักเรียนเคยร่วมงาน หรือ เคยทำกิจกรรม เพื่อทราบถึงความถนัด ความสนใจ ลักษณะนิสัยการทำงานของนักเรียนได้ในอีกทางหนึ่ง

ระบบการสอบคัด เลือกที่วัดผลเพียงด้านเดียว คือด้านความสามารถทางวิชาการ แต่ปราศจากการวัดมิติด้านแรงจูงใจและมิติคุณธรรม อาจทำให้ประเทศได้คนที่ฉลาดแต่ขาดคุณธรรมและขาดเป้าหมายชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อประเทศชาติในอนาคต

ในทางกลับกับ หากเราส่งเสริมให้ระบบการสอบคัดเลือก และการศึกษาทั้งระบบ เป็นกลไกในการคัดกรองบุคคล ให้ได้รับการพัฒนาตามความถนัด ความสนใจ ผมเชื่อว่า เราจะได้ผลผลิตของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ บุคคลเหล่านั้น จะได้รับการพัฒนาตามศักยภาพที่แท้จริง สามารถนำความรู้ที่ได้รับ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง และสังคมต่อไป

ตอนต้น ตอนจบ


Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...