วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ม.ไทย ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ตอนจบ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่สนับสนุนให้ฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกามีความตื่นตัว และพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่ทั่วโลกยอมรับ นั้นคือ การสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลและภาคีอื่นในสังคม ไม่ว่าจะเป็น

กลไกด้านกฎหมาย ที่จูงใจให้เกิดการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจเอกชน ที่เห็นชัดเจนคือ Bayh-Dole Act หรือ Patent and Trademark Law Amendments Act 1980 ซึ่งประกาศใช้ เมื่อปี ค.ศ.1980 และปรับปรุงอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1984 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัย เชื่อมโยงการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

กฎหมายฉบับนี้ ระบุให้ผู้วิจัยที่รับทุนวิจัยจากงบประมาณของรัฐ สามารถนำงานวิจัยไปจดสิทธิบัตร และขายสิทธิบัตรให้ภาคการผลิตได้ ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการทำวิจัย และจดสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัย รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านสิทธิประโยชน์ระหว่างภาควิชาการกับเอกชนมากขึ้น

กลไกด้านงบประมาณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น มูลนิธิ บริษัท สถาบันวิจัย โรงพยาบาล รวมถึงหน่วยงานอื่นจากต่างประเทศ ฯลฯ

สิ่งที่น่าขบคิดคือ การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนมีทิศทางการสนับสนุนในด้านที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาคุณภาพประชากร เช่น ด้านสาธารณสุข การแพทย์ และวิทยาศาสตร์ และยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความความพยายามสร้างความร่วมมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยร่วมกัน

สะท้อนคิดสู่ประเทศไทย ผมเห็นว่า หากรัฐบาลเห็นคุณค่าการพัฒนาประเทศโดยอยู่บนฐานการวิจัย รัฐบาลควรมีวิสัยทัศน์ว่า จะจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัย โดยพิจารณาจากจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่มีศักยภาพ เพื่อการผลิตองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น สนับสนุนให้เกิดการวิจัยเชิงพาณิชย์ การให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตร หรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงได้

ในส่วนของมหาวิทยาลัย ต้องขับเคลื่อนตนเอง เพื่อให้รองรับต่อการพัฒนาไปสู่การสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย โดยเริ่มต้นจากผู้บริหารจะที่ให้ความสำคัญและการสนับสนุนอย่างจริงจัง มีการพัฒนาระบบการผลิตผลงานวิจัยของคณาอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัย รวมถึงลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐ โดยหันไปแสวงหาแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ พัฒนาศักยภาพตนเอง โดยพิจารณาจากจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

การวิจัยนับเป็นหัวใจของการพัฒนากำลังคน และการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน การส่งเสริมให้ทุกภาค โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันที่มีศักยภาพ ทั้งทางด้านองค์ความรู้และบุคลากร ให้เห็นคุณค่าการพัฒนาระบบวิจัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และการพัฒนาประเทศจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ตอนต้น ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

2 ความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...