วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แดน คิลเลน สร้างสรรค์งานวิจัย สร้างองค์ความรู้เพื่อคนรุ่นต่อไป ตอนจบ

Daniel Grey Quillen (1940–2011)
สภาพแวดล้อมที่ได้หล่อหลอมให้ แดน คิลเลน กลายเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการนั้น ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศของฮาร์วาร์ด ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการวิจัย และปลูกฝังให้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ คณาจารย์ที่สอนล้วนเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น และยังเป็นผู้สอนที่มีความกระตือรือร้น นำพาผู้เรียนไปสู่พรมแดนความรู้ อันเป็นพื้นฐานของการต่อยอดองค์ความรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ในอีกส่วนหนึ่งเกิดจากตัวผู้เรียนเอง ที่ต้องรู้จักค้นคว้า ฝึกฝนทักษะการคิด การทำวิจัย เรียนรู้ที่จะนำความรู้ที่มีอยู่แต่เดิมไปใช้ และต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจกับความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้น ช่วยให้เราคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ผู้เรียนที่ต้องการประสบความสำเร็จทั้งในโลกของการเรียน และการทำงาน จึงต้องพัฒนาศักยภาพและทักษะที่สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้

มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาความรู้ ไม่ทำตัวเคยชินกับการรอผู้อื่นนำข้อมูลมาป้อนใส่สมองเรา แต่มีกระตือรือร้นที่จะขวนขวายหาความรู้ และพัฒนาความรู้ ให้เพิ่มพูนอยู่เสมอ ทั้งจากการอ่านหนังสือ การสืบค้นจากฐานข้อมูลประเภทต่าง ๆ รวมถึงการเข้าร่วมฟังสัมมนาและการประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดรับมุมมองใหม่จากผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น

มีทักษะเปลี่ยนข้อมูลเป็นความรู้ กล่าวคือ สามารถนำข้อมูล มาจัดประมวลผล ตีความ วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจว่าข้อมูลชุดนั้นกำลังบอกอะไรเราอยู่ เข้าใจถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากการที่เราเป็นนักสะสมข้อมูล มีทักษะการคิด และการใช้เหตุผล

มีทักษะในการวิจัย กล่าวคือ มีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ อันทำให้เกิดการสร้างความรู้ขึ้นใหม่ ศึกษาค้นคว้า หรือพิสูจน์ในเรื่องที่สนใจ ฝึกวิธีการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ฝึกคิด ฝึกพิสูจน์ และฝึกการหาคำตอบ เพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นในอนาคต

มีมุมมองเชิงบูรณาการ เป็นการเชื่อมโยงเอาศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาร่วมด้วย เพื่อให้เกิดมุมมองที่ครบถ้วน สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาในประเด็นที่สนใจได้จริง เนื่องจากการมองเชิงบูรณาการ เป็นหมือนกับการขึ้นที่สูงแล้วมองลงมาด้านล่าง ทำให้เห็นภาพทั้งหมดและเชื่อมโยงเรื่องราว ได้อย่างครบถ้วน

มีการกระจายผลวิจัยสู่สังคม ไม่เพียงเราสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณค่า แต่ควรมีการกระจายความรู้ที่ได้จากการวิจัย สู่ภาคส่วนที่ต้องการผลงานวิจัยดังกล่าวด้วย เพื่อให้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในยุคที่สังคมถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้ สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักคือ หากเราต้องการประสบความสำเร็จในยุคนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาตนเองให้ เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ และมีทักษะการคิด การวิจัย เพื่อทำให้ข้อมูล มาใช้ประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้ แก้ไขปัญหาและพัฒนาไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์

ตอนต้น ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...