วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิป โจนส์ แบบอย่างการทำประโยชน์เพื่อฮาร์วาร์ด ตอนจบ

Whipple Van Ness
Jones (1909–2001)
จุดเด่นของชีวิต วิป โจนส์ ที่เราสังเกตเห็นได้คือ แม้ตนเองได้ผ่านพ้นรั้วการศึกษามานาน แต่ไม่เคยลืมที่จะส่งผ่านความปรารถนาดี และแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม ต่อสถาบันการศึกษา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะ ลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จแก่ผู้ที่ได้ผ่านเข้าไป

การที่นักศึกษา จะตระหนักและเห็นความสำคัญ รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยร่วมกัน แม้ตนเองจะจบการศึกษาไปในช่วงเวลาใดก็ตาม รวมถึงความพยายามร่วมกันที่จะสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็ง เป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของสถาบันการศึกษาอย่างมาก

หากพิจารณาจากหลายประเทศในโลก การบริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษานั้น นับว่าเป็นวัฒนธรรม ที่สะท้อนถึงการเห็นคุณค่าของการพัฒนาการศึกษา การเรียนการสอน ในส่วนของฮาร์วาร์ดเอง นับว่าเป็นมหาวิทยาลัย ที่เติบโตขึ้นมาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา องค์กรธุรกิจ และศิษย์เก่าจากทั่วโลก จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

ผมเห็นว่า วัฒนธรรมเช่นนี้ ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้น และแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยของไทย ต้องการทรัพยากรการศึกษาจำนวนมหาศาล ให้สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นสถาบัน ที่สามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ในความเป็นจริงกลับพบว่า ช่องทางที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา ยังคงมีอย่างจำกัด กล่าวคือ เป็นการพึ่งพิงทรัพยากรจากรัฐ และความสามารถของผู้บริหาร ในการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา แต่ยังขาดการสร้างเครื่องมืออันทรงพลัง ในการระดมทุน สรรพกำลังจากศิษย์เก่า หรือผู้ที่เห็นคุณค่า ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้สามารถแข่งขันได้

การที่มหาวิทยาลัย สามารถสร้างความร่วมมือในการระดมทรัพยากร เพื่อการศึกษาจากศิษย์เก่าได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของสถาบัน ให้นักศึกษาทุกคน อยากเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาสถาบัน แม้ตนเองจะจบไปแล้วก็ตาม

ในอีกส่วนหนึ่งผมเห็นว่า ภาครัฐเอง ควรมีกลไกสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าในการบริจาคเพื่อการศึกษามากขึ้น ผ่านการสร้างช่องทางใหม่ ๆ และแรงจูงใจ เพื่อให้เกิดการบริจาคมากขึ้น เช่น การจูงใจด้วยระบบภาษี การยกย่องบุคคล องค์กรที่มีส่วนสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา แก่สถาบันการศึกษา เป็นต้น

สิ่งสำคัญคือ นักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า ควรตระหนักต่อบทบาทของตน ในการมีส่วนร่วมสนับสุนนกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่เพียงได้รับประโยชน์ จากการสัมพันธ์กับศิษย์เก่าคนอื่น อันเป็นประโยชน์ทางอาชีพการงาน เป็นการแสดงไมตรีจิตอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างกันในฐานะศิษย์เก่า และ สถาบันการศึกษา รวมถึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน แก่สถาบันการศึกษา ให้สามารถผลิตบุคลากร องค์ความรู้ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

ตอนต้น ตอนจบ


Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...