วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ดกับงานวิจัยและวิชาการด้านจีนศึกษา ตอนจบ

การผลิตจดหมายเหตุดิจิตอลทางด้านประวัติศาสต์ท้องถิ่นจีน (A Digital Archive for Chinese Local History) ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่ การผลิตผลงานวิจัยใหม่เกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม และสภาพบริบทสังคมของมณฑลหูหนาน ตั้งแต่สมัยราชวงค์ชิงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน การเป็นผู้นำของโลกทางด้านการผลิตจดหมายเหตุดิจิตอลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจีน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักวิชาการร่วมกัน

ประยุกต์สู่ประเทศไทย
การสร้างความร่วมมือในการวิจัยและศึกษาในประเด็นลงลึกเกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังตัวอย่างเช่นที่ฮาร์วาร์ดทำโครงการตกลงความร่วมมือกับประเทศจีน เป็นความร่วมมือที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้สามารถศึกษาประเด็นนั้นได้ในเชิงลึก และนำสู่การพัฒนาขยายผลโครงการสู่การสร้างประโยชน์ในภาพรวมได้

ฮาร์วาร์ดได้สร้างความร่วมมือในลักษณะคล้ายกันเนื่องจากฮาร์วาร์ดมีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับประเทศในแถบเอเชีย โดยได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาเฉพาะทางคือ ศูนย์เอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University Asia Center) โดยมีการศึกษาลงลึกจริงจังเพียงไม่กี่ประเทศอันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฯลฯ แต่ยังไม่มีการศึกษาลงลึกในส่วนของประเทศไทยในด้านใดเลย

ผมจึงเกิดความคิดและความตั้งใจว่า ต้องการเห็น “ศูนย์ไทยคดีศึกษา” (Center of Thai Studies) ที่ฮาร์วาร์ด โดยเสนอแนวคิดนี้แก่ ศาสตราจารย์ไมเคิล เฮอร์ซเฟลด์ (Prof. Michael Herzfeld) และศาสตราจารย์ เจย์ โรเซนการ์ด (Prof. Jay Rosengard) ซึ่งทั้งสองท่านมีความสนใจประเทศไทยอย่างมาก เราจึงได้เสนอเรื่องนี้ให้กับศูนย์เอเชียแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากนั้นฮาร์วาร์ด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์เอเชียเพื่อไทยศึกษา (The Asia Center Committee on Thai Programs) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยศาสตราจารย์เจย์ โรเซนการ์ด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ และผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ

การเกิดขึ้นของศูนย์ไทยศึกษาในฮาร์วาร์ด จะเป็นช่องทางพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการและประสานความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการไทยและนักวิชาการจากทั่วโลกที่สนใจศึกษาเรื่องเมืองไทย ที่สำคัญงานวิจัยเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากศูนย์ศึกษาแห่งนี้ จะสะท้อนกลับมายังไทยที่จะก่อคุณูปการแก่ประเทศไทย ผมจึงเห็นว่า หากมหาวิทยาลัยของประเทศไทยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้มากเท่าใดในการทำการศึกษาวิจัย และจัดตั้งศูนย์การศึกษาวิจัยแลกเปลี่ยนกัน จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย ไม่เพียงในด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ด้านองค์ความรู้เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการค้าขายและธุรกิจ ตลอดจนด้านการพัฒนาประเทศด้วย

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...