Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
“สิ่งที่มนุษยชาติแสวงหา คือ สงคราม หรือ สันติภาพ หากเราปรารถนาสันติภาพจะต้องปราศจากสงครามหรือความขัดแย้งใด ๆ อันจะนำมาซึ่งความเกลียดชังและการทำลายกัน”
ข้อความนี้ ผมได้กล่าวไว้ในหนังสือ สังคมพหุเอกานิยม: เอกภาพในความหลากหลาย เพื่อสะท้อนให้เห็นความจริงว่า แท้จริงแล้วสันติภาพนั้น แม้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่แสวงหามากกว่าสงคราม แต่ตลอดเวลาหลายพันปี สังคมโลกกลับดำเนินภายใต้ความขัดแย้ง เกลียดชัง และการใช้ความรุนแรงต่อกัน มากกว่าดำเนินไปร่วมกันอย่างสงบสุขด้วยการยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน
คนต่างสีผิว คนต่างเชื้อชาติ คนต่างศาสนา คนต่างวัฒนธรรม คนต่างอุดมการณ์ทางการเมือง คนต่างฐานะ คนต่างการศึกษา ฯลฯ ความแตกต่างเหล่านี้มักนำมาซึ่งความขัดแย้งอันเกิดจากหลากหลายสาเหตุ อาทิ ความรังเกียจเดียดฉันท์ การถือว่าตนเองดีกว่า การกลัวถูกทำร้าย ถูกคุกคาม ความไม่พอใจการกระทำของอีกฝ่าย และมักตามมาด้วยความพยายามจัดการอีกฝ่ายหนึ่งให้ออกไปจากทางของตน โดยคิดว่าเมื่ออีกฝ่ายพ่ายแพ้ไปแล้ว “สันติสุข” จะกลับคืนมา
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นบทเรียนสอนให้เห็นว่า การจัดการฝ่ายตรงข้ามแบบ “ฉันชนะ เธอแพ้” เพื่อสันติสุขจะกลับคืนมา ในตอนสิ้นสุดสงคราม ฝ่ายที่ชนะคิดว่า ความสยดสยองของสงครามจะทำให้เยอรมันผู้ปราชัยจะสงบเสงี่ยมไม่คิดรุกรานเพื่อนบ้านอีก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะสันติภาพดำรงอยู่กับฝ่ายชนะเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ในขณะที่ฝ่ายแพ้กลับสะสมความโกรธแค้น และก่อกำแพงความไม่พอใจฝังลึก รอเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อแก้แค้น ซึ่งระเบิดขึ้นในปี ค.ศ.1939
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น