วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

พิบัติภัยญี่ปุ่น - ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

คอลัมน์ :  แนวคิด ดร.แดน

หลังจากประเทศญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม จนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน สถาบันและผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นและวิเคราะห์ ว่า ธรณีพิบัติในญี่ปุ่นจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง เนื่องจากการลดลงของการส่งออกไปญี่ปุ่น การลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น และจำนวนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น ขณะที่ภาคการผลิตบางส่วนต้องชะลอการผลิตลงเพราะขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้า ขั้นกลางซึ่งต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น

พิบัติภัยครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นๆ 1-2 ไตรมาสแรก

โดยสามัญสำนึก การที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเป็นตลาดส่งออกอันดับ สองของไทย เป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรงในประเทศไทยมากที่สุด และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยนับล้านคนต่อปี ภัยพิบัติรุนแรงในประเทศญี่ปุ่นน่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยอย่าง หลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่ในความเห็นของผม พิบัติภัยครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นๆ 1-2 ไตรมาสแรก แต่จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกด้วย


ปัจจัย สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว คือกิจกรรมการฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง ทั้งการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารบ้านเรือน ซึ่งคาดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในครึ่งปีหลังขยายตัวสูง กว่าแนวโน้มปกติ และจะทำให้อัตราการขยายตัวตลอดปีนี้ไม่เลวร้าย ในทางตรงกันข้ามอาจจะทำให้จีดีพีสูงกว่าการคาดการณ์เดิมเสียด้วยซ้ำ

ข้อมูล ผลกระทบของภัยพิบัติในอดีตจำนวนมากสะท้อนว่า ภัยพิบัติไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งไปกว่านั้นการฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติในบางกรณียังทำให้อัตราการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังตัวอย่างของประเทศชิลีที่เกิดแผ่นดินไหวในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2553 แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 ในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวเทียบเท่าค่าเฉลี่ยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 2554 หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐอลาสกาที่กลับทำให้กิจกรรม ทางเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น เช่นเดียวกับแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบเมื่อปี 2538 ที่แทบไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีดังกล่าวเลย


ทั้ง นี้แนวคิดของจีดีพีไม่ได้วัดจากมูลค่าสะสมทุนทางเศรษฐกิจ (stock) แต่วัดจากมูลค่าเพิ่มหรือมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (flow) ดังนั้นแม้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อทุนทางเศรษฐกิจสูง ถึง 3.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งเป็นความเสียหายที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ด้วยกิจกรรมการฟื้นฟูบ้านเมืองที่มีมูลค่ามหาศาลจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น กลับมาขยายตัวอย่างร้อนแรงอีกครั้ง

การฟื้นฟูครั้งนี้ยังอาจทำให้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวอย่างเข้มแข็งในระยะต่อไปอีกด้วย เนื่องจากการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะไม่เป็นเพียงการทดแทนโครงสร้างพื้นฐาน โรงงาน และอาคารเดิมที่เสียหายไปเท่านั้น แต่คาดว่าจะมีการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง (หรือทั้งประเทศ) และมีการลงทุนด้วยเทคโนโลยีใหม่หรือมีกระบวนการจัดการรูปแบบใหม่ที่มี ประสิทธิภาพมากกว่าเดิมและสามารถป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้น


ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีความพร้อมในการฟื้นฟูบ้านเมืองจากความเสียหายครั้งนี้ สังเกตได้จากการอัดฉีดเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่สูงถึง 15 ล้านล้านเยน หรือกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทางการญี่ปุ่นยังสามารถขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอยู่ถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อนำเงินมาบูรณะประเทศ รวมทั้งความเสียหายส่วนหนึ่งยังได้รับการชดเชยจากเงินประกัน โดยมีการประเมินว่ามูลค่าการชดเชยความเสียหายอยู่ระหว่าง 1 ถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือมากกว่า

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการจัดการปัญหา ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูจิมะ ไดอิจิ และการฟื้นฟูระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศซึ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องปิดกระแส ไฟฟ้าในบางช่วงเวลาอยู่ในขณะนี้ แต่ด้วยงบประมาณจำนวนมาก ความทุ่มเทของคนญี่ปุ่น และความช่วยเหลือจากนานาประเทศ คาดว่าทางการญี่ปุ่นจะสามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว


การฟื้นฟู ประเทศญี่ปุ่นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะด้านการส่งออก แม้ในระยะสั้น อุปสงค์มวลรวมของญี่ปุ่นจะชะงักงันทำให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นชะลอตัวลง แต่ปัญหาการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารและน้ำจะทำให้การส่งออกอาหาร จากไทยไปญี่ปุ่นยังมีโอกาสขยายตัวอยู่ ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง การอัดฉีดสภาพคล่องและงบประมาณเพื่อฟื้นฟูสาธารณูปโภคและการลงทุนใหม่ของภาค เอกชนญี่ปุ่น จะทำให้ความต้องการสินค้าของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจาการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเทขาย พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพื่อนำเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าได้ราคาถูกลงในรูปเงินเยน

ส่วนประเด็นปัญหา การขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นนั้น แม้โรงงานอุตสาหกรรมสำคัญๆ หลายแห่งในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบโดยตรงจากพิบัติภัย แต่พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายไม่ใช่พื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นเหมือน พื้นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมืองโกเบเมื่อปี 2538 โดยมีมูลค่าผลผลิตจากพื้นที่นี้ร้อยละ 7.8 ของจีดีพี ขณะที่พื้นที่เสียหายในแผ่นดินไหวโกเบมีผลผลิตร้อยละ 12.4 ของจีดีพี ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่นของญี่ปุ่นยังมีความสามารถผลิตสินค้า ทดแทนโรงงานที่รับผลกระทบ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ซึ่งผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 2.6 ในเดือนมกราคม 2538 แต่กลับมาขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์ร้อยละ 2.2 และขยายตัวร้อยละ 1 ในเดือนมีนาคม


ส่วนการลงทุนจากญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงในระยะสั้น เนื่องจากการดึงเงินทุนกลับไปเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทแม่ในญี่ปุ่นและการ ลงทุนใหม่เพื่อฟื้นฟูโรงงาน แต่ระยะต่อไปนักลงทุนญี่ปุ่นจะมีการปรับยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ โดยการย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งออกนอกประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนญี่ปุ่น

ด้าน จำนวนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นจะลดจำนวนลงในช่วงครึ่งปีแรกเนื่องจากประชาชน ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแผ่นดินไหวอาจสูงก ว่า 1 แสนคน แต่คิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของญี่ปุ่น นอกจากนี้เมื่อญี่ปุ่นรัฐบาลสามารถจัดการวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และปัญหา ไฟฟ้าดับ รวมทั้งเริ่มการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้ความเชื่อมั่นของญี่ปุ่นฟื้น ตัวขึ้น ประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นตลอดทั้งปีไม่ลดลงมากนัก


กล่าว โดยสรุป ผลกระทบของแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในระยะสั้นในช่วง ครึ่งปีแรกเท่านั้น แต่จะกลับมาขยายตัวในอัตราสูงในครึ่งปีหลัง เนื่องจากการอัดฉีดเงินฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนใหม่ของเอกชน ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจโลกในระยะยาว อันเนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นที่กองทุนการเงินระหว่าง ประเทศคาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 234 ของจีดีพีในปีนี้ ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในโลก และปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งอาจทำให้การพึ่งพาน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตทั่วโลกสูงขึ้น

5 ความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...