วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจมส์ อะกี ผู้ไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว ตอนต้น

เจมส์ อะกี (James Rufus Agee) นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้มากความสามารถ มีผลงานทั้งที่เป็นงานเขียน วรรณกรรม บทกวี บทภาพยนตร์ และบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ได้รับการยกย่องให้เป็นตำนานของวงการวรรณกรรมและภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา แม้ว่า ผลงานส่วนใหญ่ของ เจมส์ อะกี จะโด่งดังและได้รับความนิยมจากคนทั่วไป ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว

ในขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น เขาเป็นแบบอย่างแห่งความมุ่งมั่น พยายาม พัฒนาตนเอง ปรับปรุง สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้ผลงานสามารถครองใจนักอ่าน และเป็นที่ยอมรับของสังคม

การเป็นนักเขียนอย่างจริงจังของ เจมส์ อะกี ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่อายุ 18 ปี เมื่อได้ก้าวเข้าสู่รั้วฮาร์วาร์ดปี ค.ศ.1928 ได้พัฒนาทักษะด้านการเขียน การประพันธ์ โดยการเป็นนักเขียนในนิตยสาร “Harvard Advocate” ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสารดังกล่าว

ขณะที่ร่วมงานกับนิตยสารของมหาวิทยาลัยนั้น เจมส์ อะกี ได้แสดงความสามารถด้านการเขียน ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น บทกวี บทความปริทัศน์ เรื่องสั้น หนึ่งในบทกวีของเขา ได้รับรางวัลบทกลอนดีเด่นจากมหาวิทยาลัย รวมถึงได้รับเลือกให้เป็นผู้แต่งโคลง เนื่องในโอกาสวันจบการศึกษา เมื่อปี ค.ศ.1932

ตลอดระยะเวลาที่ เจมส์ อะกี อยู่ในฮาร์วาร์ดนั้น เขาได้รับการฝึกฝนทั้งทักษะการทำงาน รวมถึงทักษะชีวิต กล่าวคือ เขาได้ฝึกฝนทักษะการเขียน ผ่านการทำงานมกับนิตยสารของมหาวิทยาลัย และบรรยากาศการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ได้สอนให้เขาเรียนรู้ที่จะอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค กล้าเผชิญกับความผิดพลาด ยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ และความคิดเห็นที่แตกต่าง

ทันทีที่จบการศึกษา เจมส์ อะกี ได้รับการตอบรับให้เป็นนักข่าวของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune magazine) โดยเขาทำหน้าที่เขียนบทความประเภทต่าง ๆ ให้กับนิตยสาร เช่น ธุรกิจ วัฒนธรรม เป็นต้น

ผลงานหนึ่งที่ทำให้ชื่อของเขาได้รับการกล่าวถึง คือ งานเขียนที่ถ่ายทอดชีวิตของคนยากจน ซึ่งมาจากประสบการณ์ที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนเหล่านั้น ในขณะที่ทำงานให้กับนิตยสารฟอร์จูน แต่บทความดังกล่าวถูกปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ แต่เขาไม่ลดละความพยายามที่จะทำให้งานชิ้นนี้ ออกสู่สายตาของคนในสังคม

ในปี ค.ศ.1941 เจมส์ อะกี ได้รวบรวมบทความ กวี และงานเขียนประเภทอื่น ที่เขาพยายามถ่ายทอดสิ่งที่เขาได้พบเจอ เมื่อครั้งที่ใช้ชีวิตกับคนยากจน โดยตีพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง “Let Us Now Praise Famous Men” แต่กลับไม่ได้ผลตอบรับที่ดี มียอดจำหน่ายเพียง 600 เล่ม

ต่อมาภายหลังที่เขาเสียชีวิตไป 5 ปี ผลงานดังกล่าวถูกนำมาตีพิมพ์อีกครั้ง ในปี ค.ศ.1960 และได้รับการยกย่องจากบรรดานักปราชญ์ และนักวิจารณ์ว่า เป็นงานชิ้นเอกแห่งวงการวรรณกรรม เนื่องจากการนำเสนอเนื้อหา ที่ฉีกแนวไปจากวิธีการของนักหนังสือพิมพ์ทั่วไป

เจมส์ อะกี ได้หันมาเป็นนักเขียนอิสระในปี ค.ศ.1948 แต่ยังคงเขียนบทความให้กับนิตยสาร และเริ่มต้นการเป็นนักเขียนบทภาพยตร์ในปีถัดมา แม้เขาจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่ก็มีผลงานหลายชิ้นที่ถูกนำกลับมาสร้างใหม่ และกลายเป็นที่นิยม ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต

ตอนต้น ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...