วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะชีวิตพิชิตความสำเร็จ อย่าง จอร์จ เอ เวลล์เลอร์ ตอนต้น

จอร์จ แอนโทนี เวลล์เลอร์ (George Anthony Weller) นักเขียนนิยายชาวอเมริกัน ผู้สื่อข่าวประจำในหลายประเทศทั่วโลก ผลงานของเขาชนะรางวัลพูลิตเซอร์และยังเป็นนักข่าวชาวตะวันตกคนแรก ที่ได้ไปเยือนเมืองนางาซากิ ภายหลังถูกกองทัพสหรัฐฯ ถล่มด้วยระเบิดปรมาณู ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ความผูกผันระหว่างฮาร์วาร์ดกับนักเขียนชื่อดัง จอร์จ เอ เวลล์เลอร์ นับว่า เป็นทั้งแหล่งสร้างเสริมทักษะด้านวิชาการ การทำงาน รวมถึงภาพของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นหนึ่งในความทรงจำที่เขาไม่เคยลืมเลือน

ความสามารถในการเขียนของ จอร์จ เวลล์เลอร์ ปรากฎชัดเจน เมื่อเขาได้มีโอกาสร่วมงานกับ ฮาร์วาร์ด คริมสัน (The Harvard Crimson) หนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีผลงานที่เป็นหนังสือ เมื่ออยู่ปีที่ 4 และเป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลงร่วม ในงานฉลองครบรอบ 83 ปี ของคลับฮาสตี้ พัดดิ้ง (Hasty Pudding Club)

จอร์จ เวลล์เลอร์ จบการศึกษาจากฮาร์วาร์ดในปี ค.ศ.1929 และได้ศึกษาต่อด้านการแสดงที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก่อนที่จะรับหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คเกอร์ ไทมส์ (The New York Times) และนักข่าวอิสระ ระหว่างนั้นเขาได้นำความสามารถด้านการเขียน มาใช้ในอีกทางหนึ่งคือ การเขียนนวนิยาย 2 เรื่อง และเรื่องสั้นอีกจำนวนมาก

นวนิยายเล่มหนึ่งของเขาคือ “Not to Eat, Not for Love” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1933 นับว่าเป็นผลงานหนึ่ง ที่ถ่ายทอดความความทรงจำ ในการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาของฮาร์วาร์ด ที่ไม่ได้จบสิ้นลงแม้เขาจบการศึกษาออกมาแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนังสือที่บอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตนักศึกษาในรั้วฮาร์วาร์ดได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง

ชีวิตการทำงานของ เวลล์เลอร์ นั้นนับว่า ต้องเผชิญหน้ากับความลำบาก และความตายหลายครั้ง เนื่องจากระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขารับหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ให้กับหนังสือพิมพ์ชิคาโก เดลี นิวส์ (Chicago Daily News) ทำหน้าที่รายงานข่าวสงคราม ทั้งในแถบยุโรป แอฟริกา เอเชีย และ แปซิฟิก

เขายังเป็นนักข่าวชาวตะวันตกคนแรก ที่ได้เข้าไปเยือนเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังจากการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู โดยกองทัพสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945

แม้ว่า เวลล์เลอร์ จะทำงานอย่างหนัก แต่เขาก็ยังแบ่งเวลาในการฝึกฝนทักษะด้านภาษาอีกรวม 8 ภาษา เพื่อสื่อสารกับผู้คนในหลากหลายประเทศ

จากประสบการณ์นี้เอง ทำให้เขานำข้อมูลที่ได้รับจากการพูดคุย มาบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเกิดสงคราม และส่งผลให้ผลงานชิ้นหนึ่ง ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี ค.ศ.1943

เวลล์เลอร์ ได้มีโอกาสกลับสู่รั้วฮาร์วาร์ดอีกครั้ง ในฐานะ นักวิชาการไมน์แมน (Nieman fellowship) คัดเลือกเฉพาะนักข่าวที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ การได้รับคัดเลือกครั้งนี้ นับว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เขาถือว่า เป็นเกียรติแก่ชีวิตของเขา และได้ถ่ายทอดความภาคภูมิใจนี้ไปยังรุ่นหลานด้วย

วงการผู้สื่อข่าวของสหรัฐฯ ได้สูญเสีย บุคลากรคนสำคัญอย่าง จอร์จ แอนโทนี เวลล์เลอร์ไป ในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ.2002 .ด้วยวัย 95 ปี แต่ผลงานที่เวลเลอร์ได้ฝากไว้ ยังคงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของคนรุ่นหลังต่อไป

ตอนต้น ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...