วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นาดีน สโตรเซน สำเร็จได้เพราะรักการอ่าน ตอนที่ 3/4

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ช่วงตลอดระยะเวลา 17 ปี ของการเป็นผู้บริหารองค์กร นาดีนได้สร้างผลงานจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป และได้สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมในเรื่อง สิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็น การพูดในที่สาธารณะกว่า 200 ครั้งต่อปี การให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพของพลเมืองในสื่อมวลชนอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมมือกับอีกหลายองค์กร ในการเคลื่อนไหว ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักในหลายประเด็นของสังคม ยกตัวอย่างเช่น การต่อต้านการใช้กัญชา การเป็นสมาชิกของกลุ่มสิทธิเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Rights Association) การเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรี (Feminists for Free Expression)

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากชีวิตของนาดีน สโตรเซนได้ นั่นคือ ความสำเร็จอันเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่าน เพราะการอ่านไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเพิ่มพูนความรู้ แต่ยังส่งผ่านพลังอันยิ่งใหญ่ ให้ผู้อ่านซึมซับ เรียนรู้และเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติตามแนวทางหรือเป้าหมาย

การอ่านเป็นการให้อาหารแก่สมอง ถ้าให้อาหารดี (อ่านสิ่งที่ดี) ให้อย่างสม่ำเสมอ สมองย่อมรับและย่อยสิ่งที่ดี ความคิดย่อมเจริญงอกงาม ถ้าให้อาหารไม่ดี (อ่านสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม) สมองก็อาจได้รับอาหารพิษ ความคิดย่อมพิกลพิการ ยิ่งถ้าไม่ได้รับอาหาร (ไม่ชอบอ่าน) รับแต่ขนมจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โทรทัศน์ เกมส์ อินเตอร์เน็ต) สมองย่อมจะขาดสารอาหาร เพราะขาดความรู้จากหนังสือที่จะนำมาคิดใคร่ครวญ อย่างเพียงพอ และจะทำให้ตายทางปัญญาในที่สุด

การอ่านมีความสำคัญมากในการกำหนดว่า อนาคตเราจะเป็นเช่นไร.. ผมได้พยายามย้ำเด็กรุ่นหลัง ให้เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าเราอ่านหนังสือกันน้อยเหลือเกิน เมื่ออ่านน้อยจึงมีโลกทัศน์แคบ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างจำกัด ขาดความสามารถในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...