วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

ฮาร์วาร์ด... ตัวแบบมหาวิทยาลัยสีเขียว ตอนที่ 1/3

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ และขยายวงกว้างในขั้นวิกฤตในทุกประเภทของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องด้วยเป็นปัญหาใกล้ตัว มีผลกระทบโดยตรงต่ออุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น ลดความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตอาหาร อีกทั้งส่งผลต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ลดลงของคนในสังคม

ฮาร์วาร์ดเองมิได้นิ่งนอนใจในประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารระดับสูงของฮาร์วาร์ด และภาคประชาคมฮาร์วาร์ดต่างเร่งระดมสรรพกำลัง และบริหารการจัดการสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย โดยฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ริเริ่มดำเนินการผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าเกือบ 10 ปี และเร่งเครื่องมากขึ้นในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่อยากจะพัฒนาให้ฮาร์วาร์ดกลายเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาและภาคปฏิบัติ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

ความพยายามดังกล่าว เห็นได้จากการผลักดัน ให้มีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการผลักดันในรูปของการประกอบเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ Harvard Green Campus Initiative (HGCI) ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.2008 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Harvard Office for Sustainability หรือ OFS มีภารกิจเป็นหน่วยงานกลางในการผลักดันการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยและชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ร่วมกับคณะและหน่วยงานในภาคส่วนต่าง ๆ ของฮาร์วาร์ด มีเป้าหมายร่วมกันคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย ให้ได้ร้อยละ 30 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.2006 – 2016 ซึ่งนับเป้าหมายที่มีท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับฮาร์วาร์ด

ด้วยเหตุนี้ ฮาร์วาร์ดจึงได้เริ่มปฏิรูประบบต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีมาตรการครอบคลุมประเด็นการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ โดยมุ่งการพัฒนาและปรับปรุงทั้งด้านกายภาพ และด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล อาทิ

ปรับปรุงอาคารในฮาร์วาร์ดให้เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ทั้งห้องเรียน ห้องแล็ป และอาคารเก่าแก่ในมหาวิทยาลัย เช่น การควบคุมอุณหภูมิในตัวอาคาร Byerly Hall ด้วยการใช้พลังงานความร้อนจากการพลังงานไอน้ำ ซึ่งมีห้องควบคุมอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของตึก แทนการใช้เครื่องทำความร้อน การใช้ลิฟท์ในตัวอาคารที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเกียร์ การนำกระจกมาใช้เป็นส่วนประกอบของตัวอาคาร เพื่อเพิ่มปริมาณแสงสว่าง การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ต้มน้ำ รวมถึงแจกจ่ายน้ำไปตามบ้านและที่พักต่าง ๆ ภายในฮาร์วาร์ด เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานได้อย่างมากในแต่ละปี

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2   ตอนที่ 3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...