วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในกรณีต่างๆ

บทความจาก Professor Dr.Kriengsak Chareonwongsak
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, www.kriengsak.com

          นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2553 ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้ายึดพื้นที่ในบริเวณย่านราชประสงค์ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 เดือนเศษแล้ว การชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์นั้นได้ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อ ผู้ประกอบการและแรงงานบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก มีการประเมินว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่า 5,244 ล้านบาท/เดือน หรือ 174 ล้านบาท/วัน ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลผู้รับผลกระทบโดยการให้เงินชดเชย 3,000 บาท แก่ลูกจ้างที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท 20,000 คน แต่ว่านายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้จริง และขอให้กระทรวงแรงงานกลับไปกำหนดกรอบการช่วยเหลือมาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง



          ที่มาของภาพ http://www.edequality.org/page/-/Fast Facts/22 - Lost wages.jpg

          หากพิจารณาย้อนกลับไปเกี่ยวกับการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นจากโครงการของรัฐ การเปิดเสรีทางการค้า หรือภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราจะเห็นปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นเสมอนั่นคือ การขาดความโปร่งใส เนื่องจาก ไม่มีการแสดงให้เห็นถึงวิธีการคำนวณ ที่มาที่ไปของตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นและมาตรการชดเชย ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ อีกปัญหาหนึ่ง คือ ความล่าช้าและไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งมาจากการเจรจาตกลงกันไม่ได้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่ ได้รับความเสียหาย การรอการตรวจสอบจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การอนุมัติงบประมาณล่าช้า การขาดข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่การขาดกระบวนการที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ต้องมีการพิจารณาทบทวนไปมา ซึ่งทำให้การช่วยเหลือไม่ทันการณ์


          ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบในกรณีต่างๆ ถูกดูแลอย่างดี ขณะเดียวกันเงินภาษีของคนทั้งประเทศถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม ผมจึงอยากเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบ โดยมีการจัดสรรงบประมาณให้ เพื่อจะสามารถอนุมัติเงินช่วยเหลือได้รวดเร็ว และหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อคำนวณและจ่ายเงินช่วยเหลือให้ถูกคน ในปริมาณที่เหมาะสม โดยมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน โปร่งใส รวดเร็ว มีการกำหนดวันเวลาที่ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลืออย่างชัดเจน เช่น ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ ครม. อนุมัติ เป็นต้น อีกทั้งต้องรายงานการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่รัฐสภาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความโปร่งใส เป็นต้น


          วิธีนี้จะช่วยให้ภาคประชาสังคมสามารถช่วยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ง่ายขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบยังรู้ได้ชัดเจนว่าเมื่อได้รับผลกระทบจะ ไปเรียกร้องได้ที่หน่วยงานใด ซึ่งแม้ว่าวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับภาครัฐ คือการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงอาจไม่สามารถป้องกันได้ทุกปัญหา ดังนั้นเองการมีระบบที่ดีในการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...