วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

เพิ่มเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว.

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

จาก : กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ :  ทัศนะวิจารณ์

การยืนยันจะขึ้นเงินเดือนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของนายกรัฐมนตรี ได้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคม นายกรัฐมนตรีได้ให้เหตุผลว่าเป็นการขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกันทั้งระบบ ทั้งแรงงาน ข้าราชการ และองค์การบริหารส่วนตำบล นอกจากนี้ เงินเดือนนักการเมืองยังต่ำกว่าเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงที่นักการเมือง กำกับด้วย แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนให้นักการเมือง ให้เหตุผลว่า เงินเดือนของนักการเมืองในขณะนี้สูงกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ส.ส.และ ส.ว.ยังทำงานไม่คุ้มค่ากับเงินเดือนที่ได้รับ เห็นได้จากการประชุมสภาที่ล่มบ่อยครั้ง และที่สำคัญ การขึ้นเงินเดือนครั้งนี้อาจเป็นความพยายามซื้อเสียงจาก ส.ส.ในการสนับสนุนให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ



ขึ้นเงิน เหมาะหรือไม่

ในความเห็นของผม การจะวิเคราะห์ว่าเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว.ในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ และควรขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส.และ ส.ว.หรือไม่ เราควรทำความเข้าใจบริบทและที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.เสียก่อน ผมจะขออธิบายประเด็นข้างต้นด้วยทฤษฎีที่ผมคิดขึ้นมา คือ "ทฤษฎีการเกิดขึ้นของผู้นำ (Model of Leadership Emergence)"

ทั้งนี้ หากเราพิจารณา ส.ส.และ ส.ว.ในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของผู้นำทางสังคม เราจะพบว่าการเกิดขึ้นของผู้นำนั้นมีหลายลักษณะ



ในกรณีของประเทศจีน ผู้นำทางการเมืองมาจากล่างขึ้นบน โดยเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จะขึ้นมาเป็นผู้นำไม่ได้ ระบบการคัดสรรผู้นำของจีนเน้นระบบอาวุโส ใช้เวลากลั่นกรองนาน ผู้นำจีนส่วนใหญ่จึงมีอายุมาก มีความสุกงอมทางความคิด มีเสถียรภาพ หนักแน่น และถูกเพาะบ่มมาเป็นเวลานาน ผู้นำแต่ละคนกว่าจะขึ้นมาได้ต้องผ่านประสบการณ์โชกโชนและหลากหลาย เพราะต้องผ่านการทดลองงานมาหลายด้าน จากงานเล็กไปงานใหญ่ ต้องพิสูจน์ตัว มีผลงาน คนที่ผลงานไม่เข้าตา จะไม่ได้รับโอกาสให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ผู้นำจึงไม่ได้มาเพื่อทดลองงาน ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายน้อย


ส่วนกรณีประเทศสิงคโปร์ ผู้นำทางการเมืองมาตามความสามารถ ไม่สนใจระบบอาวุโส แต่สนับสนุนคนเก่ง คนมีความสามารถ (Merit System) หากเป็นคนเก่งจะสามารถไปได้เร็ว เพราะมีกลไกลู่วิ่งเร็ว (Fast Track) และมีกลไกให้เกิดการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะกลไกราคา ข้าราชการที่เก่งจะได้รับเงินเดือนสูง จนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินเดือนเอกชนและนักการเมือง ด้วยระบบเช่นนี้คนเก่งจะปรากฏออกมาให้เห็น นอกจากนี้ ผู้ที่จะขึ้นเป็นผู้นำยังมีโอกาสได้ทำงานหมุนเวียนไปในหลายหน่วยงาน ทำให้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย 


หากเราหันกลับมาพิจารณากรณีของประเทศไทย เราจะพบว่าผู้นำทางการเมืองของไทยส่วนใหญ่นั้นมาจากคนที่มีทุน หรือเป็นผู้ที่มีนายทุนให้การสนับสนุน โดยนายทุนจะเลือกสนับสนุนคนที่ตนเองสามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้ ซึ่งแน่นอนว่า นายทุนส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนคนที่มีแนวโน้มได้รับชัยชนะมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงไม่มีผู้นำทางการเมืองหน้าใหม่ หรือจากพรรคใหม่ แม้อาจมีผู้ที่มีความสามารถและมีอุดมการณ์สูง แต่จะไม่สามารถแข่งขันได้ หากไม่ได้การสนับสนุนจากนายทุนหรือไม่มีทุนมากพอ  


ระบบการเกิดขึ้นของผู้นำของไทยนั้น ไม่มีการแข่งขัน ค่าจ้างของคนเหล่านี้ไม่เป็นไปตามกลไกราคา ทำให้ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัว และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีความสามารถ เราจะเห็นได้ว่า นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่ทำหน้าที่ควบคุมรัฐวิสาหกิจกลับได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจเสียอีก ซึ่งเป็นระบบที่ผิดปกติ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมักจะไม่ค่อยได้คนเก่งมาทำงานราชการ และเข้ามาเป็นนักการเมือง ขณะที่องค์กรที่จะได้คนเก่งและมีความสามารถ คือ องค์กรธุรกิจ เพราะมีกลไกที่สามารถกลั่นกรองผู้นำ ตามระบบผลประโยชน์ของบริษัทได้


หากวิเคราะห์ประเด็นการขึ้นเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว.ตามทฤษฎีการเกิดขึ้นของผู้นำ ผมคิดว่าเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว.ของไทยในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ผมคิดว่าควรมีการขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส.และ ส.ว. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องสร้างกลไกให้มีการปรับปรุงในสองเรื่องหลักๆ คือ ต้องให้มี "การแข่งขันมากขึ้น" โดยเป็นการแข่งขันที่ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่แข่งในการหาเสียงเท่านั้น เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความสามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้มากขึ้น และอีกกลไกที่สำคัญด้วย คือ การทำให้การแข่งขันทำได้อย่างเสมอภาคไม่ว่ามีเงินหรือไม่มี เพื่อให้คนดีคนเก่งสามารถเข้าสู่การแข่งขันทางการเมืองอย่างเสมอภาค นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับ "การเพิ่มโทษของการคอร์รัปชันและการปราบทุจริตให้รุนแรงขึ้น" ดังนั้น เงินเดือน ส.ส.และ ส.ว.สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ หากมีการลงโทษนักการเมืองอย่างหนัก หากจับได้หรือมีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริต นอกจากนี้ คดีทุจริตของนักการเมืองนั้นจะต้องถือว่าเป็นคดีที่ไม่มีอายุความด้วย  การขึ้นเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว.โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวระบบอื่นๆ เพื่อรองรับนั้น อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นหรือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากนัก หากแต่จะยิ่งเพิ่มข้อครหาให้แก่ผู้ที่ได้ชื่อว่า "นักการเมือง" มากขึ้น

ที่มา www.drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...