วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข้อเสนอแก้น้ำท่วมระยะยาว

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ที่ผ่านมาประชาชนไทยในหลายจังหวัดเผชิญความยากลำบากจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังคงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับปัญหานี้ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องรับมวลน้ำปริมาณมหาศาลที่กำลังไหลลงมาจากทางเหนือ ประกอบกับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น รวมทั้งฝนที่มีโอกาสตกลงมาอีก ซึ่งในระยะเวลาที่จำกัด การป้องกันความเสียหายและแก้ปัญหาน้ำท่วมใน กทม.จึงทำได้เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ที่มาของภาพ http://wmp.gsfc.nasa.gov/WiringDiagrams/FlashFlood2.jpg

อย่างไรก็ดี ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องกลับมาพิจารณาถึงการดำเนินการระยะยาวเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงเช่นนี้อีก โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมถาวรอันเนื่องจากปรากฎการณ์แผ่นดินทรุดตัวและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทั้งนี้ผมได้เคยเสนอนโยบายระยะยาวในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ.2551 และตีพิมพ์แนวคิดดังกล่าวเป็นบทความเรื่อง “แก้น้ำท่วมด้วยบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ” หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2551 โดยมีข้อเสนอแนวทางต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


ขุดสะดือเมือง ซึ่งใช้หลักการแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการเวนคืนพื้นที่ลุ่มต่ำทั่ว กทม.มาสร้างเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มเติม หรืออาจใช้สวนสาธารณะที่มีพื้นที่มากพอขุดบึง เพื่อเป็นแหล่งรองรับน้ำในช่วงน้ำท่วม และผลพลอยได้คือ บึงนี้กลายเป็นสถานที่พักผ่อน หย่อนใจ ซึ่งสะดือเมืองแต่ละแห่ง จะมี “สายสะดือเมือง” ซึ่งเป็นโครงข่าย (network) ของระบบสูบน้ำ และท่อส่งน้ำ ออกจากสะดือเมือง ไปลงคลอง หรืออุโมงค์ส่งน้ำ หรือสะดือเมืองอื่น เพื่อระบายน้ำออก ในกรณีที่สะดือแห่งนั้น ไม่สามารถรับน้ำได้อีก


ศึกษาการสร้างเขื่อน แนวกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมแบบถาวร โดยหน่วยงานในพื้นที่ประสานกับรัฐบาล เพื่อทำการศึกษาการจัดสร้างเขื่อน แนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ ชายฝั่งทะเล เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และลดความรุนแรงของคลื่น และอาจพัฒนาแนวเขื่อน หรือคันกั้นน้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำเป็นถนนคนเดิน หรือทางจักรยานเลียบน้ำ


จัดผังเมืองควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน โดยเฉพาะในจุดที่เป็นเส้นทางน้ำไหล และแอ่งรองรับน้ำ ป้องกันไม่ให้มีการก่อสร้างหรือถมที่ปิดกั้นทางไหลน้ำ หรือกำหนดให้ก่อสร้างในรูปแบบพิเศษ เช่น หมู่บ้านที่ขวางแนวทางไหลของน้ำผิวดิน อาจออกแบบบ้านให้น้ำไหลผ่านใต้บ้านได้ หรือกำหนดให้โครงการหมู่บ้านจัดสรรต้องจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม เช่น กำหนดให้มีสะดือและสายสะดือหมู่บ้าน


จัดตั้งวอร์รูม (War room) เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการในการติดตาม ตรวจสอบและสั่งการเกี่ยวกับภัยพิบัติและเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ฯลฯ

รวมถึงการติดตั้งระบบตรวจสอบระดับน้ำเพิ่มเติม ในแม่น้ำ ในคลอง สะดือเมือง และพื้นที่เสี่ยงภัย โดยข้อมูลเหล่านี้ จะถูกส่งเข้ามายังศูนย์อัตโนมัติ จัดทำแบบจำลองวิเคราะห์และพยากรณ์ภาวะน้ำท่วม โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลด้วยคอมพิวเตอร์


นวัตกรรมบ้านหนีน้ำ ออกแบบบ้านเพื่อให้ผู้ที่ต้องการสร้างบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม นำไปใช้ในการก่อสร้าง เช่น บ้านใต้ถุนสูง ออกแบบอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม ปรับปรุงบ้านของคนที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งอาจอยู่นอกคันกั้นน้ำ ให้เป็นบ้านลอยน้ำ มีหลักการคล้ายโป๊ะท่าเรือ ตัวบ้านสามารถลอยน้ำ และเลื่อนขึ้น-ลงตามเสาบ้านได้ แต่มีระบบล็อค เพื่อไม่ให้บ้านโคลงเคลง


การบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศจึงมักเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยมักเกิดขึ้นเมื่อประเทศต้องผ่านวิกฤตการณ์ไปก่อนเสมอ แต่ไม่ใคร่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการคาดการณ์และเตรียมการณ์เพื่อป้องกันปัญหาล่วงหน้า ผมเห็นว่า น้ำท่วมในครั้งนี้ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการมองไปข้างหน้า และการดำเนินการในระยะยาว เพื่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ20 กันยายน 2554 เวลา 10:03

    โครงการดีๆ ควรสนับสนุน

    ตอบลบ
  2. เห็นด้วยกับสะดือเมือง สวนสาธารณะจะได้เยอะ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ25 ตุลาคม 2554 เวลา 23:19

    ดีครับสำหรับโครงการนี้(แต่สังคมไทยในปัจุบันถ้าไม่มีผลประโยชน์ก็ยากนะครับเพราะนักการเมืองนิสัยไม่ดีเยอะมากๆ)

    ตอบลบ

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...