วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พรรคการเมืองไทย - ดีแต่สัญญา???

นิกิตา ครุสเชฟ
ที่มา http://th.wikipedia.org
นิกิตา ครุสเชฟ (Nikita Khrusjtsjov) อดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เคยกล่าวไว้ว่า "นักการเมืองที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมดคือให้สัญญาว่าจะสร้างสะพานทั้งๆ ที่แถวนั้นไม่มีแม่น้ำสักหน่อย"

คำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของนักการเมือง ซึ่งให้คำสัญญากับประชาชนไปโดยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจอย่างแท้จริง คำสัญญาเป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งคะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น

หากถามประชาชนว่า หลังจากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งแล้วพวกเขารักษาคำสัญญาที่ให้ไว้มากน้อยเพียงใด? คำตอบที่ได้คงเป็นไปในแง่มุมลบเสียส่วนใหญ่ ซึ่งกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวที่ไม่ดีสำหรับนักการเมืองไปเสียแล้วว่าเป็นพวก ที่ดีแต่พูดเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากให้ความเป็นธรรมแก่นักการเมืองบ้าง อาจกล่าวได้ว่าคำตอบเหล่านี้เป็นเพียงความรู้สึกของประชาชนหรือประสบการณ์ ของคนบางส่วนเท่านั้น จริงๆ แล้วนักการเมืองอาจรักษาสัญญาอยู่บ้างเช่นกัน

การที่จะตอบคำถามได้อย่างยุติธรรมว่า หลังจากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งแล้ว รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้มากน้อยเพียงใด? ควรจะมีการศึกษาและอธิบายโดยมีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งตัวอย่างของงานศึกษาที่อธิบายเรื่องนี้ก็มีอยู่เช่นกัน เช่น งานของ Franois Petry และ Benot Collette (2008) เรื่อง "Measuring How Political Parties Keep Their Promises"

Petry และ Collette ได้ทำการศึกษาเพื่อตอบคำถามดังกล่าวโดยใช้วิธีการสำรวจบทความในวารสารและใน หนังสือจำนวน 18 ชิ้น ที่ตีพิมพ์ในอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วง 40 ปี โดยบทความเหล่านี้นำเสนอบทวิเคราะห์ในเชิงปริมาณเกี่ยวกับการรักษาสัญญาที่ ให้ไว้ในช่วงการเลือกตั้งของพรรคการเมืองในประเทศแถบอเมริกาเหนือและยุโรป

นักวิจัยทั้งสองได้อธิบายว่า วิธีการที่จะรู้ว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองรักษาสัญญามากน้อยเพียงใดมี หลายวิธี แต่วิธีที่แนะนำและเป็นที่นิยมของนักวิชาการส่วนมาก คือ การนับจำนวนคำสัญญาที่พรรคการเมืองให้ไว้และเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของ พรรคเมื่อได้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา ง่าย และทำให้ผู้ศึกษาสามารถระบุจำนวนคำสัญญาที่พรรคการเมืองทำตามออกมาเป็นรูป ของร้อยละซึ่งง่ายแก่การตีความมากกว่าวิธีอื่น

จากงานศึกษาที่ Petry และ Collette ทำการสำรวจพบว่า พรรคการเมืองทำตามสิ่งที่พวกเขาสัญญาไว้อยู่ในช่วงร้อยละ 45 - 80 (โดยข้อมูลอาจแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา ประเทศ และระบอบการปกครอง) แต่หากนำมาหาค่าเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 67

อย่างไรก็ตามคำตอบที่ได้จากงานศึกษาส่วนใหญ่ที่ Petry และ Collette นำมาศึกษานั้นอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจาก วิธีการศึกษาของงานบางชิ้นอาจมีปัญหา เช่น ไม่มีการกำหนดนิยามของคำที่ศึกษาอย่างชัดเจน ต้องอาศัยการตีความข้อมูลของผู้วิจัย ไม่มีการอ้างอิงเอกสารสำคัญ การออกแบบวิธีการวิจัยมีข้อบกพร่อง เป็นต้น แต่อย่างน้อยงานศึกษาเหล่านี้อาจให้ภาพคร่าวๆ บางอย่างเกี่ยวกับประเด็นซึ่งเราสนใจได้

เมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทย ผมยังอดสงสัยไม่ได้ว่าหากมีการศึกษากรณีประเทศไทยเกิดขึ้นจริง ผลที่ได้ออกมาจะเป็นอย่างไร? ตัวเลขที่ได้ออกมาจะน้อยจนน่าใจหายหรือตัวเลขจะมากกว่าที่ประชาชนรู้สึกจน น่าประหลาดใจ

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ว่าพรรคการเมืองรักษาสัญญาหรือไม่ เป็นประเด็นหนึ่ง แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าควรจะตั้งคำถามเช่นกัน คือ หากพรรคการเมืองรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแล้วจะเป็นผลดีกับประชาชนจริง หรือไม่? ผมตั้งคำถามนี้ เนื่องจากเห็นว่าในระยะหลังมานี้ พรรคต่างๆ นำเสนอนโยบายประชานิยมแข่งขันกันอย่างรุนแรง นโยบายหลายประการที่พรรคการเมืองนำเสนออาจไม่มีการศึกษาให้ดีรอบคอบเสียก่อน ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร แต่เป็นลักษณะของการ เกทับ คู่แข่งเสียมากกว่า เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ บางพรรคสัญญาว่าจะขึ้นเป็น 250 บาทต่อวัน บางพรรคเสนอจะขึ้นให้ 300 บาทต่อวัน บางพรรคเสนอจะขึ้นให้ 350 บาทต่อวันด้วยซ้ำ หรือเรื่องรถไฟฟ้า บางพรรคสัญญากับประชาชนว่าจะสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง บางพรรคสัญญาว่าจะสร้างรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง เป็นต้น

มีหลายเรื่องที่พรรคการเมืองควรจะต้องรักษาสัญญาอย่างยิ่งหากได้เข้าไปทำหน้าที่ แต่บางเรื่องผมคิดว่าการไม่รักษาสัญญาในครั้งนี้อาจเป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศมากกว่า เช่น การแข่งขันกันขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งท้ายที่สุดอาจทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ต้องปิดกิจการ และทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ผมคิดว่าประเทศไทยคงจะดีขึ้นมากหากพรรคการเมืองไทยไม่ให้คำสัญญาในสิ่งที่ทำไม่ได้ หรือเป็นไม่ได้ (เช่น สัญญาว่าจะสร้างสะพานในที่ซึ่งไม่มีแม่น้ำ เป็นต้น) หรือคำสัญญาที่ทำแล้วจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี มากกว่านั้นประเทศไทยคงจะเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือหากว่าพรรคการเมือง ต่างๆ สามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่ดีที่ให้ไว้แก่ประชาชน นักการเมืองไม่ทำสิ่งที่ส่งผลเสียต่อประเทศชาติและหันมาทำเพื่อผลประโยชน์ ของประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่าการเพียงแต่พูดเพื่อหาเสียงหรือเอาตัวรอดไป วันนึงเท่านั้น

วันที่ 3 ก.ค.ที่จะมาถึงนั้นเป็นวันตัดสินว่าประชาชนจะให้โอกาสใครเข้าไปทำหน้าที่ "รักษาสัญญา" ที่ให้ไว้กับประชาชนอีกครั้ง คงต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...