วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

โอกาสในวิกฤต เริ่มที่ความคิด ตอนที่ 2/2

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

คนจำนวนมากไม่สามารถเอาชนะปัญหาในชีวิตได้ เพราะมีมุมมองที่ผิดต่อปัญหาที่เผชิญอยู่ อาทิ ตอบสนองด้วยการ “ไม่รับรู้ปัญหา” คิดว่าปัญหาจะคลี่คลายได้โดยตัวมันเองไปในที่สุด...ตอบสนองด้วยการ “หนีปัญหา” คิดว่าตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้แน่นอน บางคนอาจปลีกตัวจากสังคม บางคนอาจเก็บตัวอยู่ในโลกส่วนตัวไม่ข้องแวะกับใคร และที่ร้ายสุดคือหนีปัญหาโดยการปลิดชีวิตตนเองลง...ตอบสนองด้วยการ “จำใจเผชิญปัญหา” ด้วยถูกเงื่อนไขบางประการบีบคั้น จึงจำใจต้องเผชิญกับปัญหาที่มีอยู่ แต่เป็นการเผชิญด้วยมุมมองแง่ลบ เสียเวลาไปกับความท้อแท้ใจหรือการหาคนผิด มากกว่าความพยายามในการคิดแก้ปัญหา

ตรงกันข้าม คนที่มีทัศนคติแง่บวกต่อปัญหา จะสามารถพลิกผันปัญหานั้นให้เป็นโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่แก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเดิม คนเช่นนี้มักจะประสบความสำเร็จในแวดวงวิชาชีพของตน แต่คนเรามักมองไม่เห็นมุมนั้น เนื่องจากเขาหยุดที่จะคิดถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนสถานการณ์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และมักจะรู้สึกไม่พอใจ หงุดหงิด กับปัญหาที่เกิดขึ้นและยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ดุ๊ค อิลิงตัน นักดนตรีแจ๊ส ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของอเมริกากล่าวว่า “ปัญหาคือ โอกาสที่คุณจะได้ทำงานอย่างดีที่สุด” ปัญหาช่วยสะท้อนให้เรารู้ว่าต้องมีการปรับปรุงแก้ไขสภาพบางอย่างให้กลับสู่มาตรฐานที่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการลงมือปรับปรุงส่วนที่บกพร่องเสียใหม่ เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขส่วนที่บกพร่องแล้ว ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความก้าวหน้าต่อเนื่องไป ปัญหาจึงเป็นตัวสร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาได้เป็นอย่างดี

โดยปกติคนเราจะทำงานหรือประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งเดิม ๆ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง หากไม่มีบางสิ่งบางอย่างมา “กระตุ้น” ให้เกิดการฉุกคิดและทบทวนสิ่งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เปรียบเสมือนการขับรถออกจากบ้านตามเส้นทางเดิมที่เคยชินอยู่ทุกวัน จนกระทั่งมีวันที่รถติดมากในเส้นทางนั้น ทำให้เราต้องคิดค้นหาเส้นทางอื่น ๆ ที่จะวิ่งไปสู่จุดหมาย ซึ่งอาจทำให้เราค้นพบเส้นทางใหม่ที่เร็วกว่าเส้นทางเดิมก็ได้

วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ บอกไว้ว่า “คนฉลาดไม่เคยนั่งและร้องไห้หาสิ่งที่สูญเสียไป แต่เขาจะหาวิธีการปรับแต่งแก้ไขความเสียหายนั้นอย่างร่าเริง”

มุมมองเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่เราต้องเปลี่ยนแปลง ก่อนจะก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาในขั้นตอนต่อ ๆ ไป เพราะโลกทัศน์ที่ถูกต้องจะนำไปสู่การตอบสนองที่ถูกต้องต่อปัญหา เมื่อประกอบกับการเลือกใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธีแล้ว ไม่มีวิกฤตใดที่ยากเกินกว่าความสามารถของเราในการจัดการได้อีกต่อไป

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...