วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านความยั่งยืน ตอนที่ 2/3

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและพลังงาน พิจารณาจากการตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งฮาร์วาร์ดให้การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดโครงการทางด้านการอนุรักษ์และพัฒนามากกว่า 12 โครงการด้วยกัน รวมทั้งยังให้การสนับสนุนเงินทุนกู้ยืมสำหรับทำโครงการดังกล่าวเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า เงินทุนกู้ยืมสู่วิทยาลัยสีเขียว (Green Campus Loan Fund) ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกด้วย นอกจากนั้น ฮาร์วาร์ดยังได้มีการติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนทั้งหมด 4 แผง แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้สำหรับทำน้ำร้อนอีกจำนวน 3 แผง และติดตั้ง rooftop wind เมื่อไม่นานมานี้

ด้านอาหารและการนำกลับมาใช้ใหม่ พิจารณาจากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Dining service ซึ่งได้ใช้งบประมาณกว่าร้อยละ 25 ในการซื้อผลผลิตตามฤดูกาลที่ผลิตโดยท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับการทำอาหาร นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังผลักดันให้มีการดำเนินโครงการทำปุ๋ยหมักที่ครอบคลุมกระบวนการทั้งก่อนและหลังการบริโภคอาหาร ตลอดจนขยะที่เกิดจากการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินโครงการลดปริมาณของเสียที่แหล่งกำเนิด โดยจัดให้มีสถานที่สำหรับเก็บหรือสถานีรับบริจาคก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้าย เพื่อนำไปดำเนินการตามกระบวนการหรือขั้นตอนอื่นต่อไป

ประยุกต์สู่ประเทศไทย การพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนที่มีส่วนดูแลรักษาส่วนรวมและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เพราะมิได้ส่งผลเฉพาะการบริหารทรัพยากรมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสร้างและหล่อหลอมการมีทัศนคติเห็นแก่ส่วนรวมและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมแก่บุคลากรและผู้เรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความใส่ใจและสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2   ตอนที่ 3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...