Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, www.kriengsak.com, www.drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, www.kriengsak.com, www.drdancando.com
ปัจจุบัน ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมรุนแรงขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นคดีอาชญากรรม การใช้ความรุนแรง ปัญหาครอบครัว ปัญหาทางเพศ ยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งมีการนำเสนอตามหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์บ่อยครั้ง ยิ่งปัจจุบัน เด็กเยาวชนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาคุณธรรมจริยธรรมในฐานะผู้กระทำมาก ขึ้นและไม่มีแนวโน้มจะลดลงแต่อย่างใด
การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องสร้างขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งสถาบันที่มีส่วนสำคัญในปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของเด็กเยาวชนคือ สถานศึกษา เนื่องจาก "วัยเรียน" เป็นช่วงชีวิตสามารถซึมซับเอาค่านิยมและทัศนคติที่มีต่อคุณธรรมจริยธรรมได้ ง่ายที่สุด และเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงควรฉวยโอกาสปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในผู้เรียนให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีแนวทางดังนี้
สร้างแรงจูงใจให้ทำสิ่งดี
คำสอนจากผู้สอนป้อนสามารถเปลี่ยนความคิด กระตุ้นจิตสำนึก ส่งผลให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในการทำความดีและตระหนักถึงผลเสียของการทำสิ่ง ไม่ดีได้ โดยการยกคำสอนทางศาสนาหรือกรณีตัวอย่างมาอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างเป็น รูปธรรม อาทิ การเล่านิทานที่มีคติสอนใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย การสอนผ่านข่าวสารบ้านเมืองและเหตุการณ์ประจำวัน เช่น อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจว่านักการเมืองที่ดีมีคุณธรรมนั้น ต้องช่วยเหลือชาวบ้านด้วยใจที่เสียสละไม่หวังแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวก พ้อง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สอนยังสามารถจูงใจด้วยการให้รางวัลเมื่อผู้เรียนทำความดี ซึ่งรางวัลที่ให้ไม่จำเป็นต้องเป็นของมีราคาแพง อาจเป็นการชมเชยต่อหน้าเพื่อนในห้องหรือในโรงเรียน เมื่อผู้เรียนได้นำสิ่งที่สอนไปปฏิบัติ
เป็นแบบอย่างของผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม
ผู้สอนควรเป็นแบบอย่างชีวิตให้ผู้เรียนเห็น โดยการทำความดีและยืนหยัดในหลักคุณธรรมจริยธรรม เช่น ซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ เคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด แสดงความเมตตา ให้อภัย ตัดสินความผิดด้วยความยุติธรรม เป็นต้น ซึ่งการเป็นแบบอย่างจากผู้สอน สามารถตอกย้ำให้ผู้เรียนเห็นถึงคุณค่าของคุณธรรมจริยธรรม และผู้เรียนมีแนวโน้มเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวเมื่อโตขึ้น
สร้างช่องทางให้ทำดี
การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้น นอกจากการสร้างค่านิยมและแรงจูงใจที่ถูกต้องแล้ว ผู้สอนควรสร้างช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลายในการทำความดีให้กับผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน อาทิ สนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการทำความดี ผู้สอนควรสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เข้าร่วมกับสโมสร สมาคม หรือชมรมต่าง ๆ ในการช่วยเหลือสังคม อาทิชมรมเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ชมรมบริจาคโลหิต เป็นต้น เช่น อาจเป็นอาสาสมัครใน "กองทุนเวลาเพื่อสังคม" สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.timebanksociety.com ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนเข้ามาร่วมทำกิจกรรม โดยสละเวลาเพียงคนละไม่กี่ชั่วโมง กิจกรรมที่กองทุนเวลาฯ จัดขึ้นในปี พ.ศ.2551 ได้แก่ โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อชุมชน โครงการภาษาอังกฤษเพื่อเยาวชน โครงการห้องสมุดเพื่อชุมชน โครงการ 1 ฝา สานฝันปั้นขาเทียม โครงการกองทุนเวลาเพื่อสังคม ช่วยน้องแก้มใส ให้ยิ้มสวย โครงการ Young Artist For Community ฯลฯ การนำผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำดีเพื่อผู้อื่น เป็นการสร้างใจแห่งการเสียสละและช่วยเหลือสังคมตั้งแต่ในวัยเรียน
นอกจากสถานศึกษาจะเป็นหลักในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม สถาบันทางสังคมอื่น ๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยสถาบันทางสังคมที่ขาดไม่ได้คือ
สถาบันครอบครัว สหภาพครูแห่งชาติ (National Union of Teachers: NUT) ประเทศอังกฤษและเวลล์ ซึ่งได้มอบหมายศาสตราจารย์จอห์น แมคเบธ (Prof. John MacBeath) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) เป็นผู้ทำวิจัย โดยใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี เพื่อสัมภาษณ์ครู พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียน รวมแล้วกว่า 100 คน พบว่า เด็กที่ถูกผู้ปกครองตามใจและขาดการอบรมสั่งสอนที่ดีจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ สมในห้องเรียน อาทิ ชอบท้าทายผู้สอน ขว้างปาสิ่งของ พูดจาหยาบคาย และก้าวร้าว จากงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เห็นชัดว่า ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมผู้เรียนก่อนเข้าสถาน ศึกษา ดังนั้น ผู้ปกครองควรมีส่วนในการปลูกฝังรากฐานคุณธรรมจริยธรรมร่วมกับสถานศึกษา
สถาบันทางการเมือง ที่ดำเนินนโยบายอย่างโปร่งใส ชอบธรรม ไม่เห็นแก่พวกพ้อง เป็นแบบอย่างที่ดีด้านคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชน
สถาบันศาสนา ที่ควรมีการเผยแพร่หลักคำสอนดี ๆ อย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน
สื่อมวลชน ในฐานะที่เป็นผู้ชี้นำความคิดทางสังคม ควรรักษามาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ เน้นคุณภาพและร่วมรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้เรียนและเยาวชน และสังคมโดยรวม
เมื่อทุกภาคส่วนในสังคมไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันสื่อมวลชน รวมทั้งสถาบันวิชาชีพต่าง ๆได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนเป็นอย่างดีในการสรรค์สร้างคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม ให้เกิดขึ้นในสังคมแล้ว ผู้เรียนไทยในวันนี้ย่อมเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณธรรมนำใจ และจะนำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญในวันข้างหน้า
ที่มา http://www.kriengsak.com/node/1600
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น