วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ลูเซียส ลิทเธาเออร์ บริจาคก่อตั้งวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ข้อคิดที่ได้รับจากชีวิตของ ลูเซียส ลิทธอเออร์ คือ เขาเป็นคนหนึ่งที่มีความผูกพันกับสถาบันการศึกษา และมองภาพอนาคตในการมีส่วนร่วมทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการพัฒนาให้เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะการร่วมก่อตั้งวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ซึ่งกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักการเมืองที่มีชื่อเสียง ทั้งในอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

หากพิจารณาให้ถ่องแท้เราอาจพบว่า แท้จริงแล้วการที่คนหนึ่ง กล้าที่จะทุ่มเทให้กับสถาบันการศึกษา ซึ่งตนเองได้ผ่านพ้นจากรั้วการศึกษามาแล้ว อาจมาจากแรงจูงใจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ และอยากมีส่วนร่วมที่ทำให้สถาบันแห่งนั้น มีชื่อเสียงมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น

ผมเชื่อว่า ศิษย์เก่าของทุกสถาบันล้วนมีความภาคภูมิใจใจสถาบันที่ตนเองจบออกมา และอยากให้สถาบันนั้นเป็นที่รู้จัก และยอมรับของสังคม แต่หลายครั้ง เราพบว่า ศิษย์เก่าไม่ค่อยมีบทบาทในการร่วมพัฒนาสถาบันการศึกษาของตน หรือกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย

ทั้งที่แท้จริงแล้วบุคคลเหล่านั้นมีศักยภาพ ที่สามารถดึงมาใช้เพื่อพัฒนากิจการของมหาวิทยาลัยในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระดับบุคคลที่อาศัยความมีชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ในองค์กรของศิษย์เก่า ระดับสมาคมต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย รวมถึงระดับประเทศที่จะมีส่วนผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาในภาพรวม

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้มีบทบาทและภารกิจของเพียงการเตรียมความพร้อมนักศึกษาสำหรับการใช้ชีวิตในโลกของการทำงาน แต่ยังต้องปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของการพัฒนาการศึกษา เพื่อประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป และสังคม ให้มีมุมมองต่อมหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นเพียงทางผ่าน ไปสู่หน้าที่การงานที่ดี แต่มองมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญาที่สำคัญของสังคม

กลยุทธ์ที่นำมาใช้ อาจมีทั้งการสอดแทรกในการเรียนการสอน กิจกรรมที่จัดขึ้น การพัฒนากลไกที่จะดึงดูดความสนใจในการมีส่วนร่วมพัฒนามหาวิทยาลัย โดยสร้างแรงจูงใจประเภทต่าง ๆ ทั้งการให้รางวัล ตำแหน่งพิเศษของมหาวิทยาลัยซึ่งแสดงถึงเกียรติยศที่ได้รับ และบางกรณีอาจใช้ชื่อบุคคลนั้นตั้งชื่ออาคาร ห้องเรียน ห้องสมุด ฯลฯ

ในส่วนตัวของผู้เรียนควรตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างค่านิยมในการบริจาคเพื่อการศึกษา ที่จะส่งผลให้คนรุ่นหลังได้รับประโยชน์ โดยไม่ลืมว่า ที่เราสามารถมีที่ยืนในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากคนรุ่นก่อนหน้า เห็นคุณค่าและได้ลงแรงไว้ หากเราไม่สานต่อ จะไม่เหลือสิ่งใดที่เป็นความภาคภูมิใจแก่คนรุ่นหลัง

การแสดงออกถึงความรักและเห็นคุณค่าต่อสถาบันการศึกษา จึงเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถทำได้เพียงการพูด ยกย่องเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถลงมือกระทำ และเลือกที่จะเป็นผู้ให้ และหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดแก่สถาบันที่เรารัก ซึ่งจะก่อเกิดการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสถาบันการศึกษาของไทยให้ก้าวไกลไปข้างหน้า

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...