วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การค้าไทยในภาวะฝืดเคือง ตอนที่ 1/2

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา และกำลังลุกลามไปยังยุโรปและทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปเริ่มส่งสัญญาณการเข้าสู่ภาวะถดถอยและทำให้เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัวลงด้วย และมีแนวโน้มความถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นในปี พ.ศ.2552

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ประกอบกับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่รุนแรงมากขึ้น สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการในประเทศไทยว่า จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของไทยอย่างไรและรุนแรงเพียงใด

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย (โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน) มีแนวโน้มชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

สถิติในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะปี พ.ศ.2544 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวเพียงร้อยละ 0.76 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2543 ส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยติดลบถึงร้อยละ 10.12 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้นหากเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี พ.ศ.2552 มีแนวโน้มขยายตัวติดลบ จึงเป็นไปได้ว่า การส่งออกของไทยจะชะลอตัวอย่างรุนแรง และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด การส่งออกของไทยอาจหดตัวลง

ปัจจุบัน สัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกของไทยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเดือนสิงหาคมและกันยายนชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยเป็นการลดลงในเชิงปริมาณมากกว่าลดลงด้านราคา และคำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมเริ่มลดลงจากเดิม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...