วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

ฮาร์วาร์ด เร่งคลอด ป. เอก สร้างผู้นำทางการศึกษา ตอนที่ 1/2

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่มีส่วนบ่มเพาะในการสร้างผู้นำและบุคคลสำคัญของโลก มาเป็นระยะเวลายาวนานหลายร้อยปี ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ซึ่งต้องการพัฒนาให้ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำ และมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกด้านต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดจึงได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก สาขาวิชาความเป็นผู้นำทางการศึกษา หรือ Education Leadership ขึ้น เพื่อทำหน้าที่บ่มเพาะและเตรียมบุคลากรทางการศึกษา ที่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเปิดให้มีการเรียนการสอนครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 และจำกัดจำนวนนักศึกษาอยู่ที่ 25 คนต่อปีเท่านั้น ลักษณะเด่นประการสำคัญของหลักสูตรนี้ คือ 

ดำเนินการร่วมสอน โดยคณะต่าง ๆ จาก 3 วิทยาลัยของฮาร์วาร์ด อันประกอบไปด้วย Harvard Education School, Harvard Business School และ Harvard Kennedy School of Government ผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 3 วิทยาลัยได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรนี้ขึ้น เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ครอบคลุมในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการสอน การบริหารจัดการ ความเป็นผู้นำ นโยบายและการเมือง ฯลฯ

มีเป้าหมายเพื่อเตรียมผู้นำทางด้านการศึกษารุ่นใหม่ ที่สามารถนำทิศนำทางองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานทางด้านนี้ได้ในอนาคต โดยเตรียมนักศึกษาเหล่านี้สามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำอาวุโสในระบบวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรภาคธุรกิจ ตลอดจนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา

มีเนื้อหามุ่งปฏิรูประบบการเรียนการสอนของสหรัฐอเมริกา ทั้งในเรื่องนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสมัยใหม่ และการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ฯลฯ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและจำเป็นต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา มุ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับการกำหนดนโยบายทางการศึกษา การเป็นหุ้นส่วนที่มีพลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นของคนอเมริกันที่มีต่อระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาด้วย

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...