ทุกสิ่งที่ ทอม เลห์เรอร์ นำเสนอนั้น เป็นความพยายามสื่อสารความคิดของเขาว่า แท้จริงทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาบอกเล่า ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนในสังคม ซึ่งแต่ละคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ หากอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนว่า จะสามารถเผชิญ และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นต่อตนเองและสังคมได้อย่างไร
เมื่อปี ค.ศ.2001 ทอม เลห์เรอร์ เกษียณอายุจากการสอน ในวัย 73 ถึงกระนั้นก็ตามเขายังคงใช้เวลาส่วนใหญ่ อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California, Santa Cruz) อันเป็นสถาบันการศึกษาแห่งสุดท้ายที่เขาเป็นอาจารย์
ทอม เลห์เรอร์ นับเป็นแบบอย่างของนักเรียนรู้ ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งการเรียนและการทำงาน ที่สะท้อนผ่านการเป็นคนที่แสวงหาความรู้ พยายามทำความเข้าใจความหมายของสิ่งที่อยู่รอบตัวเสมอ โดยไม่เป็นเพียงแต่ผู้รับข้อมูล มีความกระตือรือร้น ในการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ สามารถนำมาประยุกต์จนเกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และต่อสังคม
ความสามารถในการเพิ่มทุนความรู้ให้ตนเองดังเช่น ทอม เลห์เรอร์ เป็นสิ่งที่ผู้เรียนหรือผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จ สามารถเลียนแบบอย่างได้เช่นกัน โดยพัฒนาองค์ประกอบของชีวิตด้านต่าง ๆ ดังนี้
เป็น “นักเรียนรู้” ตลอดชีวิต กล่าวคือ เป็นคนที่กระตือรือร้น หมั่นแสวงหา ค้นคว้า ข้อมูล ทำความเข้าใจ เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ อยู่เสมอ กล้าคิดและทำสิ่งใหม่ ๆ ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัวได้ด้วยตนเอง
เป็น “นักสังเคราะห์” องค์ความรู้ กล่าวคือ เป็นความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ สามารถนำความรู้ที่ได้รับ มาย่อยเป็นความเข้าใจ และนำไปสู่ประยุกต์จนใช้การได้ ซึ่งเกิดจาก การพยายามทำความเข้าใจ เรียนด้วยความอยากรู้/อยากเห็น/อยากเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่รอเพียงให้คนอื่นมาป้อนความรู้เพียงฝ่ายเดียว
เป็น “นักค้นพบ” ความรู้ใหม่ของตน กล่าวคือ มีความตื่นเต้นกับการค้นพบสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง พึงพอใจในเรื่องที่ทันสมัย พยายามเข้าใจ วิพากษ์ แสดงความคิดเห็นเรื่องที่รับรู้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คิดต่อยอดจากสิ่งที่ตนเองรู้ ค้นพบสิ่งใหม่ จากการทำความเข้าใจสิ่งที่ตนรู้
ปัจจุบัน เราอยู่ภายใต้สภาพของโลกที่เชื่อมกันเป็นหนึ่ง ด้วยระบบข้อมูลข่าวสาร การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การแข่งขันทางการค้าและการเงิน เราจึงจำเป็นต้องคิดมากขึ้น คิดในวิถีทางที่ฉลาดขึ้น เพื่อให้สามารถหาหนทางพัฒนาตนเอง ให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน
ด้วยเหตุนี้ ความรู้จากการเป็น “นักเรียนรู้ นักสังเคราะห์ และนักค้นพบความรู้” จะกลายเป็นทุนที่ติดอยู่กับบุคคลนั้น ซึ่งสามารถนำออกมาใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้สอดคล้อง เพราะเกิดจากความเข้าใจ สามารถปรับและประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้ อันเป็นการพัฒนาตนเองต่อเนื่องตลอดชีวิต
ตอนต้น ตอนจบ
Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น