วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

น้ำท่วมกับการให้ความช่วยเหลือจากรัฐที่เหมาะสม ตอนที่ 2/3

การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐที่เจาะจงกลุ่มผู้รับมากขึ้น (Better Targeted Aid)

รัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือให้ถูกกลุ่มเพื่อให้มั่นใจว่าการช่วยเหลือนั้น จะแก้ไขสามารถปัญหาความล้มเหลวของตลาดได้และไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด หรือหากการช่วยเหลือของรัฐทำให้กลไกตลาดถูกบิดเบือน รัฐต้องมีการชดเชยที่เหมาะสม

การจะทราบว่าตลาดล้มเหลวจริงหรือไม่ เราไม่อาจหาดัชนีมาอธิบายได้ง่ายนัก วิธีการหนึ่งที่อาจทำได้คือการชำเลืองดูประเทศรอบข้างว่ามีการช่วยเหลือโดยรัฐในกิจกรรมเดียวกันนั้นหรือไม่ หากมีประเทศจำนวนมากที่รัฐช่วยเหลือในกิจกรรมหรือธุรกิจนั้น เราอาจบอกได้ว่าในกิจกรรมนั้นตลาดมีความล้มเหลวจริงและอาจแก้ปัญหาได้ด้วยการให้ช่วยเหลือโดยรัฐ

อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน การที่รัฐของประเทศอื่นให้การช่วยเหลือในกิจกรรมนั้นไม่ได้หมายความว่าตลาดไม่สามารถทำงานได้เสมอไป การให้การช่วยเหลือของรัฐอาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นก็เป็นได้เช่น การแข่งขันกันให้เงินอุดหนุนเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบประเทศอื่น เป็นต้น

การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐที่สามารถติดตามได้ (Traceable Aid)

ระบบให้ความช่วยเหลือโดยรัฐนี้ต้องสามารถบอกได้ว่าความช่วยเหลือที่รัฐให้ไปนั้น ไปถึงใครบ้างเท่าไรและต้องทำให้ระบบสามารถเอาความช่วยเหลือที่รัฐให้ไปนี้ กลับคืนได้ถ้าพบว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสหภาพยุโรป ซึ่งทำระบบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐให้สามารถติดตามได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการของตนเอง ในประเทศต่างๆ การมีระบบจะเป็นการป้องกันไม่ให้การแข่งขันกันให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือโดยรัฐเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามการติดตามการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐนี้อาจทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการสูงขึ้น ในบางกรณีการติดตามความช่วยเหลือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่อาจทำให้สวัสดิการโดยรวมของประชาชนลดลง เมื่อเทียบกับกรณีไม่ให้การช่วยเหลือ ซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐต้องพิจารณาให้ดีด้วยเช่นเดียวกัน

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School, Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...