วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

น้ำท่วมกับการให้ความช่วยเหลือจากรัฐที่เหมาะสม ตอนที่ 3/3

การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Aid)

การกำหนดเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือที่เข้มงวดเกินไป ในบางครั้งอาจทำให้รัฐไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควรคุมจำเป็นต้องมีหลักการกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แต่ในวิธีการนั้นต้องมีความยืดหยุ่น เช่นอาจมีการกำหนดกรอบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐชั่วคราวขึ้นเหมือนอย่างเช่นในกรณีของสหภาพยุโรป ที่กำหนดกรอบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐแบบชั่วคราวขึ้น เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินทั้งหลาย ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินซับไพร์มและวิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นที่ยุโรป เป็นต้น

กรอบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐชั่วคราวนี้ จะเป็นสิ่งที่รับรองว่าทุกกลุ่มที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือนั้น จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันและทันท่วงที

การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐในรูปแบบที่เหมาะสม (Proper Forms of Aid)

รูปแบบการให้ช่วยเหลือมีความสำคัญแต่ละปัญหามีวิธีการที่เหมาะสมที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่สามารถใช้วิธีเดียวเพื่อช่วยเหลือทุกคน ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทขนาดเล็กที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาภัยพิบัติเกิดขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายอาจต้องการกู้เงินเพิ่ม บางรายอาจต้องการให้รัฐช่วยเรื่องหนี้เดิมที่มีอยู่ รูปแบบในการช่วยเหลือโดยรัฐที่เหมะสมคือการรับประกันเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก การอุดหนุนด้านต้นทุนให้แก่ธนาคารในการปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก การใช้คืนดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย (Interest rebates) เป็นต้น หรือกรณีผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินในขณะที่กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงาน รัฐอาจช่วยเหลือโดยการค้ำประกันเงินกู้ให้ โดยจำกัดช่วงระยะเวลา เป็นต้น

ในขณะที่ปัญหาน้ำท่วมกำลังจะผ่านพ้นไป ภาครัฐต้องทำหน้าที่ในการเยียวยารักษาฟื้นฟูประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ผมหวังว่าหลักการเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ประสบภัยในครั้งนี้ และหวังว่าภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมแล้ว ภาครัฐจะพัฒนากรอบแนวคิดที่เหมาะสมในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาดที่มีอยู่ โดยไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดหรือการแข่งขันในทางธุรกิจ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School, Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...