วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

     ผมได้รับเกียรติจากคณะกรรมการโครงการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ ซึ่งมี ฯพณฯ พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ เลือกให้ผมเป็นผู้แปลพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” (In Memory of the State Visits of His Majesty the King)

     หนังสือเล่มนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปต่างประเทศ เคยตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว และครั้งนี้จะตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคล เจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2547

ผมทำหน้าที่รับผิดชอบการแปลด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และพระบารมีที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ ทรงมีต่อประเทศไทยและปวงชนชาวไทย เนื้อเรื่องทั้งหมดนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนจดบันทึก ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อสถานการณ์แต่ละเรื่องได้เป็นอย่างดี

หนังสือเล่มนี้มีคุณค่ามากในทางประวัติศาสตร์ เพราะจะทำให้ผู้อ่านทั้งคนไทยและต่างประเทศได้รับรู้ถึงพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงกระทำ พระองค์ท่านได้ทรงบรรยายถึงการเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรปหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรวมถึงประเทศในแถบเอเชีย

ในฐานพสกนิกรชาวไทยคนหนึ่ง ผมรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่ได้ทราบว่า พระองค์ทรงงานด้านการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนี้ได้อย่างดีเลิศ จนเป็นที่ยกย่องท่ามกลางนานาประเทศ ส่งผลให้คนไทยมีศักดิ์ศรีจนทุกวันนี้ หลายคนไม่เคยทราบว่า เบื้องหลังพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ในการเสด็จฯ ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศสมัยนั้น ทั้งสองพระองค์ต้องลำบากพระวรกาย และลำบากพระราชหฤทัยเพียงใด หลายเหตุการณ์ที่พระองค์ท่านทรงเล่าไว้ในหนังสือ สะท้อนความรู้สึกที่พระองค์ทรงได้รับเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เช่น ในภาวะที่พระองค์ทรงพระประชวรแต่กำหนดการต่างๆหรือการพบปะบุคคล เยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ ยังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเอาชนะความยากลำบากเหล่านั้นมาได้ เพราะทรงเปี่ยมด้วยพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นในอันที่จะนำพาให้นานอารยะประเทศได้รู้จักประเทศไทย ซึ่งพระวิริยะอุตสาหะทั้งสิ้นนั้นมิได้สูญเปล่า กล่าวคือ บรรดาประเทศที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างมีความชื่นชมในพระบารมีและพระปรีชาสามารถของทั้งสองพระองค์ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักอย่างดีตั้งแต่บัดนั้น

อนึ่ง ในฐานะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศมหาราชินีแห่งประเทศไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงเป็นประดุจมารดาในดวงใจคนไทยทั้งชาติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ย่อมเป็นที่สนใจอย่างมากจากคนทั่วไป อันเป็นเหตุให้ในส่วนพระองค์แล้ว ไม่ว่าทรงปฏิบัติสิ่งใดต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังมาก ด้วยทรงเกรงว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ในบางเรื่อง ผมสัมผัสได้อย่างซาบซึ้งใจถึงน้ำพระราชหฤทัยที่นะลึกถึงคนไทยก่อนเสมอ และผมเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นแรงพระราชหฤทัยอันสำคัญในการตัดสินพระทัยปฏิบัติพระราชกิจอย่างไม่เห็นแก่ความลำบากพระวรกาย ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างล้นพ้น หาที่สุดมิได้

หนังสือชุด "ชีวิต ความคิด และทัศนะ"
เรื่องเล่า เขย่าคิด
Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School, Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...