วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

ฮาร์วาร์ดสแควร์ ตอนที่ 1/3

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

บทความนี้ เป็นการนำเสนอสถานที่หนึ่งที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับลานฮาร์วาร์ด(Harvard yard)มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปศึกษาต่อหรือปฏิบัติภารกิจที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นั่นคือ ฮาร์วาร์ดสแควร์” (Harvard Square) ซึ่งเป็นสถานที่เก่าแก่ที่มีคุณค่าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม

ในแต่ละปี จะมีนักศึกษาของฮาร์วาร์ดและบุคคลทั่วไป แวะเวียนผ่านไปมาบริเวณฮาร์วาร์ดสแควร์มากกว่า 8 ล้านคน โดยฮาร์วาร์ดสแควร์แห่งนี้ เป็นที่รู้จักและสามารถดึงดูดใจผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมชมคือ เป็นศูนย์รวมของความหลากหลายในด้านต่าง ๆ ทั้งการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งหนังสือ แหล่งคลังสมองที่มีการแลกเปลี่ยนทางความคิด แหล่งการพบปะสังสรรค์ และแหล่งของการจับจ่ายใช้สอยที่มีความหลากหลาย 

ประวัติศาสตร์ของฮาร์วาร์ดสแควร์ เริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ.1630 เดิมทีบริเวณดังกล่าวนี้เคยเป็นชุมชนอาณานิคมมาก่อน ต่อมาผู้ปกครองดูแลพื้นที่ดังกล่าว มีแผนที่จะพัฒนาชุมชนแห่งนี้ ให้เป็นเมืองหลวงหรือเป็นศูนย์กลางของอาณานิคมใหม่ ซึ่งเป็นอาณาเขตบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวแมสซาชูแซตส์ ทำให้ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ค.ศ.1631 ได้มีการตัดถนนในบริเวณชุมชนแห่งนี้ขึ้น ซึ่งถนนสายนี้เองที่ได้กลายมาเป็นที่มาของฮาร์วาร์ดสแควร์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฮาร์วาร์ดสแควร์จะมีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ชื่อ “ฮาร์วาร์ดสแควร์” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพิ่งเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นก็ในช่วงตอนกลางศตวรรษที่ 19 นี้เอง

ในช่วงเริ่มต้นเป็นที่ทราบกันดีว่า ฮาร์วาร์ดสแควร์ แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นที่พักอาศัยของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในสังคม อาทิ กวีชื่อดังอย่าง Anne Bradstreet หรือ นักร้องนักแต่งเพลง Tracy Chapman จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1984 บริเวณฮาร์วาร์ดสแควร์แห่งนี้ จึงได้รับการพัฒนา ให้เป็นสถานีเชื่อมปลายทางสายเหนือ-ใต้ระหว่างเมืองบอสตันกับชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่รายรอบ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นสถานีหลักในการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเข้าด้วยกัน ทั้ง รถโดยสารประจำทาง รถไฟใต้ดิน ซึ่งการเป็นศูนย์กลางของการเดินทางนี้เองที่ทำให้บริเวณแห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจการค้าและความเจริญ ทั้งนี้เริ่มจากการมีร้านค้า ธนาคาร ร้านหนังสือ โรงแรม และร้านอาหารต่าง ๆ ทยอยเข้ามาเปิดกิจการอยู่ในบริเวณนี้มากขึ้น

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2   ตอนที่ 3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...