วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูประบบห้องสมุดฮาร์วาร์ด ตอนที่ 2/4

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ปัจจุบัน ระบบบริหารจัดการภายในของห้องสมุดยังมีความล้าสมัย ใช้วิธีการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ โดยให้ห้องสมุดแต่ละแห่งบริหารจัดการตนเอง มีระบบโครงสร้างการบริหารและกระบวนการตัดสินใจซับซ้อน ขาดความคล่องตัว รูปแบบการบริหารจัดการทางการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนางานทางด้านวิชาการ รวมทั้งไม่สามารถตอบสนองต่อทิศทางนโยบายการทำงานร่วมกัน และความท้าทายทางด้านสติปัญญาในศตวรรษที่ 21 ได้

ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานเฉพาะกิจจึงเสนอให้มีการปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารจัดการและรูปแบบทางการเงินของห้องสมุดใหม่ ใน 5 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้

การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางการบริหารจัดการห้องสมุดร่วมกัน เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพและมีความคุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งในที่นี้ยังคงยืนอยู่บนพื้นฐานหลักคิดการเป็นผู้นำทางด้านสติปัญญาและความเชี่ยวชาญของห้องสมุดย่อยในแต่ละแห่ง รวมทั้งคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย นับได้ว่าเป็นจุดแข็งของระบบห้องสมุดฮาร์วาร์ดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้เสนอให้มีรูปแบบการบริหารจัดการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ระบบการดูแลรักษา และการบริการเชิงเทคนิคอื่น ๆ ร่วมกัน

การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยสร้างและปรับปรุงรูปแบบการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งระบบเทคโนโลยีหลักของห้องสมุดแต่ละแห่งภายในมหาวิทยาลัย จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้การทำงานทางด้านวิชาการร่วมกัน ทั้งระดับภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปแบบการตัดสินใจและระบบการบริหารจัดการทางด้านเงินทุนของห้องสมุดทั้งระบบดังจะกล่าวในหัวข้อถัดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...